นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการหารือกับนายนายมาร์ค กุดดิง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมถึงการพิจารณา ความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทยกับ UK เพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน สอดคล้องกับนโยบายการเร่งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย
นายพิชัย เปิดเผยว่า สองประเทศได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน ผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ในระดับรัฐมนตรี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินธุรกิจ อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยเร่งรัดการดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภายใต้กรอบการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership: ETP) ผ่านกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจครอบคลุมสาขาที่สองประเทศมีศักยภาพและทรัพยากรที่ส่งเสริมกัน เช่น การเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม การลงทุน การท่องเที่ยว และสุขภาพ ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับ นายดักลาส อเล็กซานเดอร์ รัฐมนตรีการค้าของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะจัดการประชุม JETCO ไทย-UK ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานร่วมกันในปี 2568 ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเฉลิมฉลองครบ 170 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันด้วย
นายพิชัย เปิดเผยว่า ไทยได้เน้นย้ำกับ UK ถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้นดังกล่าวว่า จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพิจารณาเจรจา FTA ระหว่างกันในอนาคต ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลไทยผลักดันและให้ความสำคัญกับการทูตพาณิชย์เชิงรุก โดยเห็นว่า หากสองฝ่ายสามารถจัดทำ FTA ร่วมกันได้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจของทั้งไทยและ UK ต่างก็สนับสนุนการเริ่มเจรจาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขยายการค้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ ได้ขอบคุณ UK ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพิจารณารับไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมทั้งใช้โอกาสนี้แจ้ง UK ให้ทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ยินดีอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในไทยให้เป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริการเป้าหมายที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบจัดเก็บข้อมูล (Data Center) ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับ 22 ของไทยในตลาดโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคยุโรป (รองจากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) โดยมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 5,535.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,372.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม 3,454.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้ารวม 2,081.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม