พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ ผบก.จร. มีคำสั่งกองบังคับการตำรวจจราจรที่ 587/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ลงวันที่ 6 ธันวาคม ด้วยข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้ ร.ต.อ.ทวีพงษ์ อึดทุม รอง สว.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. ส.ต.อ.วีรพงษ์ มะณี ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. ส.ต.อ.ปพนธีร์ เลิศอนันต์ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. ส.ต.อ.กีรติ ประสพโชค ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. ส.ต.อ.วัชรวี ทวีบุรุษ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. ส.ต.อ.จักรินทร์ ใคร่ครวญ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. และ ส.ต.ท.ณัฐพงษ์ ดุษฎี ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 2 กก.1 บก.จร.
กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจจราจร ที่ 584/2567 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ในเรื่องที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอข่าวเหตุการณ์ข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบังคับการตำรวจจราจรทำร้ายร่างกายประชาชน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 01.40 น. บริเวณริมถนนประเสริฐมนูกิจ ก่อนถึงตึกอาร์เอส ทำให้นายธนานพ เกิดศรี ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาในภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทราบว่าได้เข้าใจผิด คิดว่ารถคันที่นายธนานพขับมานั้น เป็นรถที่แหกด่านหลบหนี เนื่องจากเป็นรถยนต์ยี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกันกับรถคันที่แหกด่านหลบหนีไป โดยนายธนานพ ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.บางเขน แล้ว
นอกจากนี้ คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ อันกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุดังกล่าวในข้างต้น จึงมีเหตุผลให้พักราชการได้ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสังพักราชการและการสังให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ข้อ 3 (1) คือ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ตามคดีอาญาที่ 2295/2567 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ของ สน.บางเขน ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายและร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นได้รับอันตรายแก่กาย และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความใน ม.105 ม.131 และ ม.179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ข้อ 8 จึงให้ ร.ต.อ.ทวีพงษ์ กับพวกรวม 7 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ม.141 ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งและหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจนิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำค้าฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป