xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท”งงทำไมนักโทษบางคนออกคุกเร็ว เรียกร้องออกระเบียบยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่า ทำไมนักโทษบางคน ออกจากคุกเร็ว !!!

หลังจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 48 ปี ในคดีโครงการจำนำข้าว และได้รับการพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ทำให้สังคมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และเชื่อมโยงไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษหนีคดี จะเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสงกรานต์ด้วย

มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการจำคุกว่า ทำไมนักโทษบางคนบางคดี ถูกจำคุกได้ไม่นาน ก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษคดีโครงการจำนำข้าว เป็นที่จับตาของสังคมเป็นอย่างมาก บางคนตั้งข้อสงสัยว่า ความเสียหายคดีจำนำข้าว รัฐบาลยังชดใช้หนี้โครงการจำนำข้าวยังไม่หมด แต่ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้ควรจะแยกออกจากกันระหว่างคำพิพากษาของศาลกับโทษที่ได้รับ การลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ที่ระบุเงื่อนไขในท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่ามีหลักเกณฑ์ในการลดโทษให้กับนักโทษอย่างไร กรมราชทัณฑ์จะนำไปคำนวณคิดวันลดโทษให้กับนักโทษทุกคน

ถ้าหากจะปรับปรุงเงื่อนไขและระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ถึงหลักเกณฑ์การลดโทษ ก็ควรจะยกเครื่องทั้งหมด และใช้หลักการในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ลักลั่นตามยุคสมัยของรัฐมนตรีบางคน หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์บางคนเท่านั้น

ผมคนหนึ่งได้รับการปฏิบัติมาแล้วตอนสมัยเป็นนักโทษ โดยปกติเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ นักโทษที่คดีถึงสิ้นสุดและเข้าสู่เรือนจำแล้ว จะได้รับสิทธิ์ลดโทษทันที แต่ในปี 2565ได้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้นักโทษต้องรับโทษ1ใน3ของโทษก่อน ถึงจะได้รับสิทธิ์การลดโทษ และเช่นเดียวกับการพักโทษพิเศษ ที่มีการออกประกาศของกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาด เข้าโครงการพักโทษการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ลงนามโดยนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อใช้กับนักโทษบางคนเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อบังคับใช้เสร็จ ก็ยกเลิกประกาศดังกล่าวไป โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ต่ออีกแล้ว แสดงให้เห็นว่าเป็นการออกมาเพื่อคนบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่มีมาตรฐานในการออกประกาศเลย ถ้าหากประกาศฉบับใดมีปัญหา หรือมีจุดอ่อนในบางจุด ก็ควรปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้ต่อไปไม่ใช่ยกเลิก

เพราะฉะนั้นการที่นักโทษได้รับการลดโทษมากน้อยเพียงใด หรือได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นอย่างไร ขึ้นอยู่กับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยากจะเรียกร้องให้มีการออกระเบียบเพื่อยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นการออกระเบียบตามอำเภอใจ ของของผู้มีอำนาจในบางยุคบางสมัยเท่านั้น