ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จุดเปลี่ยนของรัฐบาลนายกฯ แพทองธารที่หลายฝ่ายมองว่าจุดสลบอยู่ที่องค์กรอิสระและบรรดานักร้องทั้งหลายนั้นอาจจะยังไม่ใช่ประเด็นชี้ขาด หรือจุดชี้เป็นชี้ตายในตอนนี้
เพราะธรรมชาติขององค์กรอิสระนั้น ในทางการเมืองมีตัวแปรมากมายที่อาจไม่เป็นอย่างที่หลายคนคาดคิดก็ได้
ในยุคหนึ่งเราก็เคยเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้วที่บรรดากลไกองค์กรอิสระเป็นเป็ดง่อย ถูกควบคุมแทรกแซงครอบงำจากอำนาจทางการเมืองจนทำงานตรวจสอบกันไม่ได้
และต้องจับตาด้วยว่าในขณะนี้ ผู้ดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระหลายองค์กรกำลังจะทยอยหมดวาระและจะมีการสรรหากันใหม่ ก็อาจเป็นจังหวะของกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและพรรคการเมืองเข้ามาสอดแทรกส่งคนของตัวเองเข้ามาก็จะเป็นไปได้
สำหรับจุดตายของรัฐบาลชุดนี้ถ้าไม่ใช่องค์กรอิสระแล้วประเด็นสำคัญก็ยังอยู่ที่ความสามารถในการแก้ปัญหาบ้านเมืองว่าทำได้ตามที่วางไว้หรือไม่
โดยเฉพาะปัญหาใหญ่เรื่องเศรษฐกิจซึ่งนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ตตอนหลังมาเป็นแจกเงินสด 10,000 บาทสำหรับผู้เปราะบางและกำลังจะแจกเฟสสองสำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไปในต้นปีหน้านั้น มีคำถามมากมายตั้งแต่ประเด็นว่าแจกไปเฟสแรกสำหรับคนกลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคนนั้น เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ อันนี้ก็พอจะประเมินกันได้
รวมทั้งข้อท้วงติงจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช. ใน 8 ประเด็นสำคัญที่ไม่เห็นด้วยอาการแจกเงิน 10,000 นั้นอาจเป็นหอกทิ่มแทงรัฐบาลนี้
ความเห็นของคณะกรรมการ ปปช.ค่อนข้างตรงไปตรงมาว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างปัญหา และมีความเสี่ยงมากมาย เช่น ความเสี่ยงทุจริต ผิดกฎหมายหลายฉบับ ความเสี่ยงทางรัฐธรรมนูญ ความเสี่ยงในหนี้สาธารณะ เป็นต้น
ซึ่งในขณะนี้ก็มีคำร้อง คาอยู่ที่ ปปช. และคงมีคำร้องใหม่มาอีกเมื่อมีการแจกเงินหมื่นเฟสสองและมีการปรับแต่งนโยบายไปเรื่อยๆ
เรื่องนี้จะเป็นตัววัดใจรัฐบาลแพทองธาร ว่าสุดท้ายแล้วนโยบายเรือธงการแจกเงิน 10,000 นี้ จะเป็นบวกหรือเป็นลบ หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาลกันแน่