เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อบังคับห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ขึ้นใช้สะพานข้ามทางแยกรัชโยธิน-เสนานิคม-สะพานข้ามทางแยกเกษตร และอีกหลายสะพานในพื้นที่กรุงเทพ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก พ.ศ. 2567 ด้วย สภาพทางกายภาพของสะพานข้ามทางแยกรัชโยธิน และสะพานข้ามทางแยกเกษตร ซึ่งได้มีการออกข้อบังคับฯ ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินรถบนสะพาน หากแต่ในปัจจุบันนั้น สะพานทั้งสองแห่งได้มีการรื้อถอนอันเนื่องมาจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) โดยได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกทดแทนของเดิมในแนวถนนพหลโยธิน จำนวน 3 สะพาน ประกอบด้วย สะพานข้ามทางแยกรัชโยธิน สะพานข้ามทางแยกเสนานิคม และสะพานข้ามทางแยกเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งหากรถบรรทุกขึ้นใช้สะพานข้ามแยก อาจทำให้เกิดปัญหาการจราจร ทั้งอาจเกิดการชำรุดของสะพานขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลอดภัยลดการเกิดอุบัติเหตุ และสะดวกในการจราจร จึงจำเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนน และการจราจรในปัจจุบัน
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 62/2566 ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566 แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก พ.ศ.2567”
ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าด้วยการห้ามรถยนต์บรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินบนสะพานข้ามทางแยกตามถนนสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539
ข้อ 4 ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก ดังต่อไปนี้
สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี – ถนนอโศก (แยกอโศก – เพชร)
สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี – ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ)
สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี – ถนนพญาไท (แยกราชเทวี)
สะพานข้ามทางแยกถนเพชรบุรี -ถนนรามคำแหง (แยกคลองตัน)
สะพานข้ามทางแยกถนนพิษณุโลก – ถนนสวรคโลก (แยกยมราช)
สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 – ถนนพญาไท (แยกสามย่าน)
สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 -ถนนอังรีดูนังต์ (แยกอังรีดูนังต์)
สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 – ถนนสีลม (แยกศาลาแดง)
สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 – ถนนวิทยุ (แยกวิทยุ)
สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน – ถนนรัชดาภิเษก (แยกรัชโยธิน)
สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน – ถนนเสนานิคม (แยกเสนานิคม)
สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน – ถนนงามวงศ์วาน (แยกเกษตร)
สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน – ถนนประดิพัทธิ์ (แยกสะพานควาย)
สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน – ถนนกำแพงเพชร (แยกย่านพหล)
สะพานข้ามทางแยกถนนดินแดง – ถนนราชวิถี (แยกสามเหลี่ยมดินแดง)
สะพานข้ามทางแยกถนสมเด็จพระปิ่นเกล้า-ถนนอรุณอัมรินทร์ (แยกอรุณอัมรินทร์)
สะพานข้ามทางแยกถนนราชวิถี – ถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกบางพลัด)
สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรเกษม – ถนนรัชดาภิเษก (แยกท่าพระ)
สะพานข้ามทางแยกถนนลาดพร้าว – ถนนรัชดาภิเษก (แยกลาดพร้าวรัชดา)
สะพานข้ามทางแยกถนนลาดพร้าว – ถนนสุขาภิบาล 1 (แยกบางกะปิ)
สะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง – ถนนศรีนครินทร์ (แยกลำสาลี)
สะพานข้ามทางแยกถนนประชาชื่น – ถนนงามวงศ์วาน (แยกพงษ์เพชร)
สะพานข้ามทางแยกถนนประชาชื่น – ถนนรัชดาภิเษก (แยกประชานุกูล)
สะพานข้ามทางแยกถนนประชาราษฎร์ – ถนนรัชดาภิเษก (แยกวงศ์สว่าง)
ข้อ 5 นับตั้งแต่ วัน เวลา ที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ยกเลิก ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ คำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2567
พลตำรวจตรี ธวัช วงศ์สง่า
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร