นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จีดีพี บอกว่ามีปัญหา
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ GDP ไตรมาสสาม ขยับสูงขึ้นเป็น 3.0% สูงกว่าไตรมาสหนึ่ง 1.6% และไตรมาสสอง 2.2%
และคาดว่าตัวเลขสำหรับไตรมาสสี่ ก็จะขึ้นไปสูงเกิน 3.0% เสียอีก เพราะตัวเลขไตรมาสสี่ปีก่อน ในช่วงที่งบประมาณยังไม่ไหลลื่น เป็นฐานที่ต่ำ
แต่ข้อมูลใส้ใน GDP บ่งชี้ว่า มีปัญหารออยู่ในอนาคต
ประการแรก ต้องเร่งฟื้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
ตัวเลขที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาคเอกชน นั้น ต่ำลงกว่าไตรมาสก่อน
โดยขยายตัวเพียง 3.4% ลดลงจากไตรมาสหนึ่ง 6.9% และไตรมาสสอง 4.9%
ตัวเลข GDP ไตรมาสสาม ที่ขยับสูงขึ้นกว่าสองไตรมาสแรก นั้น เกิดจากการอุปโภคบริโภคภาครัฐบาล การลงทุน การส่งออกและนำเข้า เป็นสำคัญ
ตัวเลขอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำ นั้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยให้โอกาสแก่ครัวเรือนระดับล่างน้อยเกินไป
สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ GDP ที่ขยายตัวนั้น กระจุกอยู่ในระดับชั้นบนเป็นหลัก
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ใช่ด้วยการแจกเงินไปอุดหนุนอุปโภคบริโภค ที่ได้ผลแบบฉาบฉวย
วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่อนคลายการผูกขาดตัดตอน และกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น
ถ้าจะแจกเงิน ก็ควรเก็บภาษีจากผู้มีฐานะให้มากขึ้น
ประการที่สอง ต้องเตรียมรับมือปัญหาการส่งออก
แรงส่งหลักต่อตัวเลข GDP มาจากการส่งออก ซึ่งไตรมาสสามขยายตัว 10.5% สูงกว่าไตรมาสหนึ่ง 2.5% และไตรมาสสอง 4.7%
ถึงแม้ตัวเลขส่งออกเป็นที่น่าพอใจ แต่ภายหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งต้นปีหน้า นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ จะทำให้การส่งออกไปสหรัฐยากขึ้น
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ในอันดับประมาณที่ 10 ต้นๆ
และมีโอกาสสูง ที่ทรัมป์จะไล่ขึ้นภาษีอากร จากประเทศที่จีนย้ายไปผลิตอุตสาหกรรมเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษี
รัฐบาลจึงควรเตรียมประสานให้อาเซียนเป็นเกราะในการเจรจา เพราะมีหลายประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐในทำนองเดียวกับไทย
การเจรจาเป็นกลุ่มก้อน จะทำให้อำนาจต่อรองสูงขึ้น
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ
ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ