นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังไม่ถอนใบอนุญาตดิไอคอน โดยรอถามคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ว่า สคบ. บอกว่ามีปัญหาหลายเรื่องของการวินิจฉัยเรื่องประเด็นข้อกฎหมายว่าอะไรผิดอะไรไม่ผิด ซึ่ง สคบ. ก็ควรจะเป็นหน่วยงานต้นน้ำในเรื่องของการตรวจสอบว่ากรณีไหนเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรง และการตลาดแบบตรง รวมทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง โดยจะต้องชี้ตั้งแต่แรกว่าดิไอคอนเข้าไปขอทำการตลาดแบบตรง ซึ่งมีประเด็นให้ชี้หลายเรื่อง เนื่องจากภายหลังคนที่เป็นบอสบอกว่ารายชื่อคือรายได้ ซึ่งตรงนั้นอาจจะคลุมเครือ แต่ก็หมิ่นเหม่ในหลายประเด็น ดังนั้น หาก สคบ. ไม่มีความชัดเจนและไม่ขยันในการตรวจสอบ ก็จะทำให้ลุกลามบานปลาย เพราะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจกฎหมายแบบละเอียด โดยเฉพาะบรรดาศิลปินที่ไปรับงานพรีเซนเตอร์ ยากที่จะเข้าใจ และยิ่งหากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจาก สคบ. แม้จะเป็นรางวัลบริจาค ก็ควรต้องตรวจสอบให้ละเอียด และต่อไปคงเป็นบทเรียนที่สำคัญของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะภาครัฐ ว่าจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าบางบริษัทที่อาจจะมีอะไรที่หวือหวา แล้วมาบริจาคเงินเยอะๆ เพื่อหวังรางวัล
เช่น กรณีที่บริจาคครั้งละหลายล้าน ผู้บริหารโชว์หรูโชว์รวย ก็อาจจะเป็นข้อสังเกต และ สคบ. ก็อาจจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยควรเข้าไปตรวจสอบ ไม่ใช่แค่จัดการตามข้อกฎหมาย แต่ควรให้คำแนะนำ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบอสคนไหน ซึ่งพูดตรงๆ ตนก็รู้สึกเห็นใจ เพราะวันนี้ต้องอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น หากมีกระบวนการต้นน้ำที่ช่วยกันกำกับดูแล ซึ่งไม่ควรเน้นปราบปรามอย่างเดียว แต่ควรป้องกัน และคลี่คลายปัญหา โดยควรเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในคดีนี้ โดยอาจจะนำสินค้าที่มีอยู่หาช่องทางจำหน่ายให้ถูกต้อง ดีกว่าปล่อยให้ล้มทั้งยืนเช่นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย
นายแทนคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่มีการหยิบยก สคบ. มาอ้างเพื่อหาประโยชน์ และมีการตบทรัพย์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือการวิ่งเต้นเส้นสาย กับการที่วิ่งเต้นให้สินบน และเอื้อประโยชน์ ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับการเมืองด้วยหรือไม่นั้น แต่เรื่องของเงินมากมายมหาศาล การตรวจสอบเส้นทางการเงินคงไม่ยาก แต่ถ้าโยง 2 เรื่อง คือเรื่องอำนาจคน และเรื่องเงิน ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมต้องใช้กรณีของดิไอคอนเป็นไอดอลของการแก้ปัญหาการทุจริตเชิงระบบ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากเอกชนและโยงไปถึงภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ สคบ. ไม่ควรจะหลบอยู่ในเงามืด แต่ควรจะแสดงออกมาเพื่อจะคลี่คลายปัญหานี้ เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายเชื่อถือเพราะคิดว่าดิไอคอนถูกต้องเพราะได้รับรางวัลจาก สคบ. ดังนั้น สคบ. จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะถือว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือไม่ ฉะนั้น คนที่เกี่ยวข้องกับ สคบ. และสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ควรอยู่เฉย ควรต้องกำกับดูแลให้ข้าราชการในสังกัดได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะหากพูดอย่างตรงไปตรงมา สคบ. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดิไอคอนลุกลามบานปลายจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ฝากไปถึงบริษัทขายตรงต่างๆ ว่าต้องหาความรู้ให้มากขึ้น หลายทางมากขึ้น เพราะกรณีที่เกิดขึ้นอาจจะสะท้อนว่าบางทีการพึ่งหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวจะไม่พอหรือไม่ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนี้