xs
xsm
sm
md
lg

NARIT ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ดาวยูเรนัสบังดาวฤกษ์ร่วมกับทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า คืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นักดาราศาสตร์ NARIT ได้ร่วมสังเกตและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ "ดาวยูเรนัสบังดาวฤกษ์" ด้วยกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวแห่งชาติ บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จากภาพจะเห็นดาวยูเรนัส (ทรงกลมขนาดใหญ่ที่สุดในภาพ) ขณะกำลังบดบังดาวฤกษ์ 2MASS J03310965+1846263 ที่มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 13 และเห็นดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ของดาวยูเรนัส จำนวน 4 ดวง ได้แก่ มิแรนดา อัมเบรียล แอเรียล และไททาเนีย นอกจากนี้ ยังเผยให้เห็นวงแหวนบาง ๆ ของดาวยูเรนัสที่มีลักษณะตั้งฉากเมื่อมองจากโลก

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สามารถสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในทุกส่วนของทวีปเอเชีย โดยเส้นทางเงาหลักจะผ่านรัสเซียและยุโรปตะวันออก เมื่อสังเกตการณ์จากประเทศไทย ปรากฏการณ์เริ่มในเวลาประมาณ 00:29 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ช่วงกลางของการบังเกิดที่เวลาประมาณ 0:59 น. ก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์เมื่อเวลาประมาณ 01:32 น. ซึ่ง NARIT ได้เก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

การเก็บข้อมูลครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ที่นักดาราศาสตร์จะได้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส โดยประเทศไทยจะร่วมวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหอดูดาวในประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย ได้แก่ หอดูดาวมหาวิทยาลัยฮอกไกโด หอดูดาวมหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว หอดูดาวเดวัสถัล และหอดูดาวหิมาลายันจันทรา

ปรากฏการณ์ "ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์" (Stellar occultation by planets) เป็นปรากฏการณ์ที่ โลก ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์พื้นหลัง อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ทำให้เมื่อสังเกตดาวเคราะห์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลก จะเห็นดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์พื้นหลังไประยะหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เคยใช้ปรากฏการณ์นี้ตรวจพบสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบดาวเคราะห์ได้ โดยขณะที่ดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนเข้ามาบังดาวฤกษ์พื้นหลัง หากแสงของดาวฤกษ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อน-หลังการบังกัน หมายความว่าที่รอบ ๆ ดาวเคราะห์อาจมีมวลสารที่ทึบแสงซ่อนอยู่ เช่น การค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัส (พ.ศ. 2520) การค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงวงแหวนของดาวเนปจูน (พ.ศ. 2527) และการค้นพบชั้นบรรยากาศของดาวพลูโต (พ.ศ. 2531)

ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ยังคงใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้ในการทำวิจัย คือ การศึกษาพลังงานและโครงสร้างของบรรยากาศชั้นเทอร์โมสเฟียร์และสตราโตสเฟียร์ของดาวยูเรนัส เช่น เก็บข้อมูลความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศที่ระดับต่าง ๆ ผ่านการวัดความทึบแสงของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส และใช้ข้อมูลมาเป็นพื้นฐานการออกแบบภารกิจยานสำรวจดาวยูเรนัสในอนาคต

สำหรับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2556 มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยดาราศาสตร์ระดับนานาชาติมากมาย โดย NARIT ได้พัฒนาอุปกรณ์เสริม และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย และสะดวกต่อผู้ใช้งานซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก