นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2567 พบว่าปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.3 เป็น 56.0 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เป็นผลจากผู้บริโภคมีคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ ผู้บริโภคก็เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้"
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.6 53.5 และ 65.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายนที่อยู่ในระดับ 48.8 52.7 และ 64.4 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (Thai Chamber of Commerce Confidence Index หรือ TCC-CI) เดือนตุลาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 48.9 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ 49.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือนพฤษภาคม 2567 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน อยู่ที่ 46.0 ลดลดจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 46.6 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 51.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 52.2 ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวลดลงทุกดัชนี โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจปัจจุบัน
สถานการณ์ความเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และลดลงไปต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งเดือนเดือนกันยายา 2566 และดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันอยู่ที่ 46.0 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 หมายความว่าตลอด 2 ปี ที่ไทยเข้าสู่สถานการณ์ที่ใช้งบประมาณล่าช้าไปเกือบ 1 ปี และสถานการ์ดอกเบี้ยที่แพง จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นสิ่งบั่นทอนการทำกำไรของภาคธุรกิจ
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 นี้ ที่เมื่อช่วงแรกมองว่าจะโตได้ 3.2% แต่ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองในกรอบ 2.6-2.7% ซึ่งสอดคล้องกับหลายสำนักวิจัย อาทิ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มุมมองใกล้เคียงกัน โดยจีดีพีครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1.9% ขณะที่คาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวเด่นขึ้น แต่กลับเจอสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำท่วมก็ขยายวงหลายจังหวัดในเดือนตุลาคม เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบที่ลดลงน่าจะมาจากผลพวงจากน้ำท่วม แต่ยังมีปัจจัยบวกที่ผู้ประกอบการทุกภูมิภาคเห็นพ้องกันคือการแจกเงิน 10,000 บาท กลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้เสนอแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.การกระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจในช่วยปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี 2.เร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพ SME, สนับสนุน SME เข้าถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความต้องการ 3.มาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายในประเทศไทย จนกระทบกับผู้ประกอบการไทยในอนาคต และ 4.การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน