นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาในห้วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมากระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ดังนั้นจึงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมจัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 2 โครงการ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด ทั้ง 2 โครงการมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 59,500.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,019.01 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 43,843.76 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 35,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 15,656.25 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.50 ต่อปี
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 หรือ โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีชาวนาสอบถามและเร่งรัดให้รัฐบาลอนุมัติโครงการดังกล่าว ว่า โครงการไร่ละ 1,000 บาท ในขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 กำหนดเป็นหลักการว่า ในการจัดทำมาตรการ / โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และภาคเกษตรต่อจากนี้ไป ให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร รวมถึงให้พิจารณาดำเนินมาตรการ / โครงการ ในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การเพิ่มระดับผลิตภาพของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอด ห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก้สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร สามารถสร้างรายได้ของตนเอง ได้อย่างเพียงพอได้ในระยะยาว และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามระเบียบให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร โดยจะเร่งรัดโครงการช่วยเหลือตามขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายต่อไป