xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมตั้งเป้าดันสนามบินไทยติดท็อป 20 ของโลกภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายให้ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรก ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี โดยจะเร่งดำเนินการทั้งหมด 3 ระยะ

โดยในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้เพิ่มความสะดวกสบาย ควบคู่ไปกับการลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบัน ทอท. ได้ยกระดับคุณภาพการบริการ และเพิ่มความรวดเร็วในหลากหลายด้าน อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ตั้งแต่จุดตรวจคนเข้าเมือง ระบบรับกระเป๋า ไปจนถึงการเปิดใช้ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ ทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึงการนำระบบไบโอเมตริกพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลมาใช้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร

ขณะที่ระยะกลาง จะเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสาร และเที่ยวบิน ของท่าอากาศยานหลักของประเทศ และระยะยาว มุ่งเน้นการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรม ให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี และประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่าง Mr. Yam Kum Weng ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้บริหารระดับสูงของ Changi Airport Group (CAG) พล.ตงอ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ ทอท. และ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เตรียมแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบิน โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพ ต้องมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคน/ปี และไปสู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีสุดในโลก

ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีแผนจะขยายโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี รองรับผู้โดยสารเพิ่ม 15 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร เมื่อนำมารวมกับขีดความสามารถในปัจจุบัน จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างแผนพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี

นายกีรติ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ ทอท. พัฒนาท่าอากาศยานเ พื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 จุด และจะเพิ่มอีก 120 จุดในอนาคต โดยมีเป้าหมายจะเปิดใช้ระบบ Autogate ทั้งหมดสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ เหมือนกับสนามบินชางงีที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาที/คน จากเดิมที่ 30-40 นาที/คน

อย่างไรก็ตาม ทอท. ได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัด และเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเปิดให้บริการพื้นที่พักผ่อนใหม่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอย และ Co-working Space ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.67 รวมถึงสนามเด็กเล่นมีกำหนดแล้วเสร็จช่วง ก.พ.68 ซึ่งที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับท่าอากาศยานชางงี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

นายกีรติ กล่าวถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียวว่า ขณะนี้ได้หารือถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานสีเขียว (Green Airport) ร่วมกับท่าอากาศยานชางงี ซึ่งมีแผนจะร่วมมือกันในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับทางการบินยุโรปที่กำหนดให้ท่าอากาศยานทั่วโลกต้องมีเชื้อเพลิง SAF ให้บริการเติมอากาศยานภายใน 3 ปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอเชีย และประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง SAF

นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงเรื่องแผนการใช้พลังงานสะอาด โดยการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ภายในท่าอากาศยาน ซึ่ง ทอท. ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีจะลดการใช้พลังงานช่วงกลางวันเป็นศูนย์ (Day time energy) โดยปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับท่าอากาศยานชางงี ซึ่งอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์