xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีนี้ทะลุ 9 ล้านตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ว่า มีปริมาณการส่งออก 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.13% คิดเป็นมูลค่า 172,019 ล้านบาท (ประมาณ 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45.85% อันเป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภค และเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร

ขณะที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไทยมีผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาด ทำให้มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกข้าวไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวจากไทยมากเป็นอันดับ 1 ที่ปริมาณ 1.09 ล้านตัน คิดเป็น 14.66% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อิรัก (12.19%) สหรัฐอเมริกา (8.18%) แอฟริกาใต้ (7.79%) และฟิลิปปินส์ (5.36%)

นายพิชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ร่วมกันว่าในปี 2567 มีแนวโน้มส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท เนื่องจากยังคงมีผู้นำเข้าข้าวจากหลายประเทศที่ต้องการนำเข้าข้าว เพื่อรองรับกับความต้องการช่วงปลายปีสำหรับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีของไทยที่กำลังออกสู่ตลาด มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้กรมการค้าต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การค้าข้าวโลกอย่างใกล้ชิด และจัดทำแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทย ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" โดยรักษาตลาดเดิม เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รุกตลาดใหม่รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่นยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร สอดรับกับนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลก มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลก และเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าว และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย