นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. กล่าวว่า ล่าสุดเช้ามืดที่ผ่านมาวันนี้ (7 พ.ย.) สถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "หยินซิ่ง" (YINXING) ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2567 และเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน โดยพายุนี้ยังมีกำลังแรงเนื่องจากยังอยู่ในทะเล แต่ทิศทางจะมีการเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนตัวไปทิศทางตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะที่มวลอากาศเย็นยังแผ่ลงปกคลุมประเทศไทยตอนบนต่อเนื่อง ศปช. คาดว่าพายุลูกนี้จะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม จึงยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในขณะนี้
ส่วนสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รายงานกับ ศปช.ว่า ในวันนี้และวันพรุ่งนี้จะได้รับผลกระทบจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดู ทำให้ภาคเหนือตอนบน ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ยังมีเมฆมาก อาจเกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ได้
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และขอให้ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไป โดยภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกระบี่ พังงา ตรัง และสตูล
พื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ศปช. ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จึงได้เตรียมความพร้อมกำลังพลและ เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักพิงชั่วคราวกรณีอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้รวม 16 จังหวัด จำนวนศูนย์พักพิงชั่วคราว 3,033 แห่ง เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1567
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเฉลี่ยวันละ 50 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,253 ลบ.ม./วินาที ไหลรวมที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา 1,400 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปัจจุบันมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงที่อัตรา 951 ลบ.ม./วินาที คาดว่าในวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2567 จะสามารถระบายน้ำได้ในภาวะปกติอัตรา 700 ลบ.ม./วินาที ได้