xs
xsm
sm
md
lg

DSI เร่งทำสำนวน แจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่ "18 บอส-ดิไอคอน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าคดี ดิ ไอคอน กรุ๊ป ว่า ขณะนี้เร่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 18 คน โดยพนักงานสอบสวนกำลังทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะทำเสร็จทันเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำในวันพรุ่งนี้หรือไม่ ซึ่งหากพนักงานสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จก็พร้อมเข้าแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องหาในเรือนจำทันที สำหรับผู้ต้องหากลุ่มต่อไปนั้น ตอนนี้ยังมีเวลาที่จะสืบสวนสอบสวน จึงต้องมุ่งเน้นการทำสำนวนของผู้ต้องหากลุ่มแรกก่อน เพื่อที่จะส่งสำนวนต่ออัยการให้ทันภายในระยะเวลาฝากขัง 84 วัน

ส่วนกรณีที่นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความผู้ต้องหา ยืนยันว่าจะนำพยานมาให้สอบปากคำกว่า 2,000 คน และหากดีเอสไอสอบไม่ครบ ก็อาจจะพิจารณาแจ้งความในมาตรา 157 นั้น พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า ได้แจ้งให้ทนายทำบัญชีระบุพยานมาว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร รวมถึงประเด็นที่จะเข้าให้การ ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนในการพิจารณา ไม่สามารถสอบปากคำทุกคนได้ เพราะอาจจะเกิดความเสียหายต่อคดี

ด้านนายวิทยา นีติธรรม โฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ตอนนี้ทยอยออกคำสั่งในการยึดทรัพย์ไปแล้วประมาณ 320 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบัญชีที่เก็บเงินจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เงินในบัญชีเงินฝากที่มีคำสั่งโอนชัดเจน ซึ่งการตรวจยึดทรัพย์สินในคดีเป็นอำนาจของดีเอสไอในการอายัดเบื้องต้น ก่อนส่งมอบให้ ปปง. ทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือทรัพย์สินของบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ต้องหานั้น มีความจำเป็นต้องรอสำนวนสอบสวนคดีอาญาเพื่อประกอบการพิจารณา คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าตรวจพบเส้นทางการเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใคร ก็สามารถตามตรวจยึดได้หมด โดยไม่ต้องรอบุคคลนั้นถูกดำเนินคดี ส่วนผู้ครอบครองก็ต้องดูเจตนาว่ารับโดยรู้เห็นหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตรวจยึดทรัพย์สินทั้งของผู้ต้องหาเอง และของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่มีเส้นทางการเงินชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ในคดีนี้มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันตรวจยึด แต่มีความยากคือ การกระทำความผิดเกิดขึ้นในเวลาหลายปี ทรัพย์อาจถูกยักย้ายถ่ายเทไป ซึ่งจะทำให้เต็มที่ที่สุด ตอนนี้ต้องทำการรวบรวมทรัพย์ให้นิ่งก่อน แล้วจึงจะเข้าขั้นตอนคุ้มครองสิทธิ ต้องมาดูว่าผู้เสียหายจะต้องได้ทรัพย์สินคืนอย่างไร เพราะมีทั้งคนที่จ่ายไปแล้วได้สินค้าบ้างบางส่วนด้วย

สำหรับเงินที่พบว่าผู้ต้องหาโอนไปทำบุญ จะสามารถยึดอายัดได้หรือไม่นั้น กรณีนี้วัดที่รับทำบุญ สามารถต่อสู้ได้ว่า รับโดยสุจริตตามศีลธรรมจรรยา ไม่รู้ว่าเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ซึ่งต้องดูประกอบด้วยว่า ปกติแล้ววัดเคยรับเงินทำบุญจำนวนเท่านี้หรือไม่ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก่อนหรือไม่ หรือเงินที่ได้รับจากการทำบุญแล้วมีการถ่ายเทออกไปเลยหรือไม่

ส่วนกรณีจะอายัดทรัพย์สินแม่ของผู้ต้องหาคนหนึ่งหรือไม่นั้น ก็ต้องดูที่เจตนาเช่นกันว่ารับเงินโดยสุจริตหรือไม่ รู้หรือไม่ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด