ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 และพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและสภาล่าง ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้มีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันให้ผ่านสภาฯ ได้ไม่ยากนัก ซึ่งหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 นโยบายเร่งด่วนที่คาดว่าจะเห็นใน 100 วันแรก ได้แก่ มาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือน รวมถึงการต่ออายุมาตรการลดภาษีที่ประกาศใช้ในปี 2560 มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการสนับสนุนการผลิตพลังงานฟอสซิลในประเทศ เป็นต้น
หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมา ค่าเงินดอลลาร์ตอบรับแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ แตะระดับสูงสุดที่ 105.44 (6 พ.ย. ณ 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) หรือแข็งค่าขึ้นราว 1.95% จากระดับปิดวันก่อนหน้า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.50% จากแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีเพิ่มขึ้น คาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ลดลง และความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับปรับสูงขึ้นโดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 จุด (6 พ.ย. ณ 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้น จากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันแรงงานอพยพ ตลอดจนการขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น ในขณะที่มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและมาตรการสนับสนุนการผลิตในประเทศ รวมถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจจะเพิ่มมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีน อาจช่วยสนับสนุนการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ซึ่งกว่าจะเห็นผลคงอาจจะต้องใช้เวลา ในขณะที่ในระยะสั้น อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงจาก Stagflation สูงขึ้น ซึ่งยังขึ้นอยู่กับมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่จะออกมาบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
นโยบายกีดกันทางการค้าในภาพรวมและผลจากการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนโลก ยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในระยะสั้นๆ ไทยอาจได้รับประโยชน์จากจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯและการนำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการเพื่อทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ PCA และของเล่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไปข้างหน้า สินค้าส่งออกของไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 12 (ปี 2566) ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด ซึ่งคงต้องติดตามและผลสุดท้ายน่าจะต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนที่มีมากขึ้น
ไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต แต่ผลบวกคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ดอกผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (FDI) ไปยังประเทศต่างๆ คงจะไม่เกิดขึ้นในทันที และการพิจารณาเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการ ยังขึ้นกับอีกหลายเงื่อนไข ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนและโอกาสในการสร้างรายได้ระยะกลางของแต่ละสินค้าในแต่ละประเทศแล้ว คงอยู่ที่ว่าประเทศนั้นๆ จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีจากสหรัฐฯ เท่าใด และการถูกตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทจีนหรือเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของจีนมากน้อยเพียงใดด้วย
FDI การผลิตรถยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย และอีกหลายประเทศในอาเซียน (ตลอดจน เม็กซิโก อินเดีย ยุโรปตะวันออก) แต่รถยนต์ BEV ที่เริ่มลงทุนและผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายจีน คงจะส่งออกไปสหรัฐฯ (รวมถึงสหภาพยุโรป) ได้ลำบาก รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดที่เหลืออย่างเช่นอาเซียนก็คงต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังสหรัฐฯ ในอนาคตก็อาจเสี่ยงถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับกรณีแผงโซลาร์เซลล์ ยังไม่นับว่าไทยยังมีอุปสรรคด้านความพร้อมที่จำกัด (พลังงานสะอาด แรงงานทักษะสูง เป็นต้น) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่ความต้องการชิปอัจฉริยะที่ซับซ้อนขึ้นอย่าง AI, GenAI
ผู้ผลิตสินค้าไทยในกลุ่มเคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง (เหล็ก) สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าและ/หรือการเข้ามาลงทุนในไทยจากจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตที่มากกว่าความต้องการในประเทศของสินค้าจีน ประกอบกับกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก ทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้าและหล่อเลี้ยงการประกอบธุรกิจ จะยิ่งเพิ่มการแข่งขันให้กับสินค้าไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก