นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า มีกำหนดการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ชายแดน ที่อ.เกาะกูด จ.ตราด ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ มี 2 ประเด็นคือ จะเดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ดูแลทุกข์สุขกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่อยู่เฝ้าชายแดนไทย -กัมพูชา บริเวณเกาะกูด และ ไปเพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเราเป็นเจ้าของเกาะกูด ประเทศไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด และบนเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยราชการและประชาชนอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้น ทั้งนี้ จะเดินทางไปพร้อมกับปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการกองทัพเรือ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไปดูสถานที่จริง เพื่อเวลาคุยกันตรงนี้จะได้พูดกันได้ชัดเจนว่าเราได้ไปเห็นมาแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าในบรรยากาศความรู้สึกของคนที่อยู่ที่นั่น เขาก็อย่างมั่นใจว่าเขาเป็นคนไทยและอยู่บนพื้นแผ่นดินไทย ส่วนกำลังทหารทั้งหมดก็มั่นใจว่าทำหน้าที่ในการรักษาดินแดนและอธิปไตยของไทยไม่ให้ใครมารุกล้ำ และจะรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการลงพื้นที่แล้วนายภูมิธรรมกล่าวว่า จะไปดูสภาพว่าเป็นอย่างไร จะต้องมีการพัฒนาและแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าอันนี้เป็นพื้นที่ของเราที่รัฐบาลจะดำเนินการดูแล แก้ไข และพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้เรื่องการตรวจเยี่ยมกำลังพลเป็นหน้าที่ที่ตนพยายามทยอยไปอยู่แล้ว หากไปที่จังหวัดไหนก็จะไปตรวจเยี่ยมหน่วยและกำลังพลตรงนั้น
นายภูมิธรรม มองว่าความพยายามของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งนี้ จะช่วยลดความสับสนลงไปได้บ้าง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการกุข่าว เป็นการพูดที่เลื่อนลอย โดยไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง เกาะกูดเป็นของไทยมานานแล้ว ไม่เคยมีคำถาม คนไทยใช้ชีวิตที่ตรงนั้นอย่างเต็มที่ หน่วยราชการไทยก็ตั้งอยู่ที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่เคยเป็นปัญหา เพียงแต่หยิบยกขึ้นมาเพื่อมาใช้สร้างประเด็นทางการเมือง ซึ่งพอไล่ดูไปทั้งหมดมีความชัดเจน ก็จะเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด รัฐบาลต่างๆ ก็พยายามสนับสนุนให้มีเอ็มโอยู 44 ได้ดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นกลไก และเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ที่สุด ในการที่เราจะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เป็นการประกาศไหล่ทวีปในขอบเขตของน่านน้ำเท่านั้นเอง ซึ่งต่างคนต่างประกาศ จึงจะต้องใช้เอ็มโอยู 44 มาเจรจากันในเรื่องที่ยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน สิ่งสำคัญทุกสุดตรงนี้ก็เป็นเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งจะต้องคุยกัน ซึ่งข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ที่สุดคืออยู่บนความพึงพอใจใน 2 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและรักษาทุกๆ อย่างที่คิดว่าจะอำนวยประโยชน์ให้กับคนไทยให้ได้มากที่สุด