พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เรื่องเกาะกูด อย่าเผลอนะครับ
เรื่อง เกาะกูดต้องดูให้รอบคอบ อย่าออกมาพูดว่า จะเสียการท่องเที่ยว หรือเป็นพวกคลั่งชาติ จึงขอยกเอาเรื่องเขาพระวิหารมาให้ดูก่อน แล้วค่อยเอาเรื่องเกาะกูดตามมา เพื่อให้เปรียบเทียบ ลองทบทวนกันครับ
1. ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 โดยใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย (tacit acceptance) เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่โต้แย้งแผนที่ ซึ่งนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง รวมถึงกรณีที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศสมาต้อนรับ ก็ถูกนำมาอ้างประกอบว่าพระองค์ท่านยอมรับว่าเป็นพื้นที่ของฝรั่งเศสด้วย หลังจากนั้นกัมพูชาพยายามขยายพื้นที่โดยส่งชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างบ้านและวัด ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารอีกด้วย โดยพวกเราก็ใช้การเจรจา แต่เขาก็ดื้อตาใส เข้ามายึดครองเลย ลองคิดดูเรื่องเล็กๆน้อยๆแบบนี้ ยังถูกกัมพูชานำมาอ้างไว้เป็นหลักฐานหมดทุกเรื่อง
2. ปัจจุบัน รัฐบาลไทยเริ่มพูดถึงเรื่องการเจรจาทางเศรษฐกิจ เพื่อแบ่งผลประโยชน์คนละ 50% ในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทย กัมพูชา ซึ่งทุกคนก็ทราบกันดีว่า เริ่มมาจากคุณทักษิณแน่นอน จึงถ่ายทอดมาเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย แซงหน้าทุกนโยบายและยังได้รับการยืนยันจากรัฐบาลชุดนี้อีกเป็นระยะๆ
3. เมื่อดูเรื่อง เขาพระวิหารแล้ว คงเข้าใจว่าทำไมคนไทยถึงกลัวเรื่องการเสีย “เกาะกูด” กันมากมาย ขนาดนี้ มาดูลำดับการเคลื่อนไหวของกรณี เกาะกูดนี้ แบบสั้นที่สุด แล้วก็จะเข้าใจกันได้พอสมควร
(1) เมื่อ 1 ก.ค.15 กัมพูชาได้ประกาศ พระราชกฤษฎีกา กำหนดแผนที่ “เส้นเขตไหล่ทวีป” โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูดแล้วอ้อมตัวเกาะไปด้านล่าง แล้ววกกลับมาเป็นรูปตัว U กลับไปยังทิศตะวันตกของเกาะ จนล้ำเข้าไปในอ่าวไทย ที่กล้าทำแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะตอนนั้น กัมพูชากำลังอยู่ในสงครามแย่งชิงอำนาจของเขมร 3 ฝ่าย จึงต้องหาเรื่องมาเอาใจคนกัมพูชา (ปัจจุบันเวลาใกล้การเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อไร รัฐบาลกัมพูชาก็จะหาเรื่องปลุกความรักชาติ ด้วยการด่าไทยทุกครั้งไป)
(2) อีก 2 เดือนต่อมา กัมพูชาก็ออก พระราชกฤษฏีกา กำหนดแผนที่อีกฉบับหนึ่ง ลาก “ เส้นอาณาเขตทางทะเล “ ของกัมพูชา จากหลักเขตที่ 73 ประชิดด้านทิศตะวันตกของเกาะกูด เพิ่มมาอีก กฎหมายเหล่านี้ เป็นแผนที่กำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลที่ “ละเมิดสิทธิและอธิปไตยของประเทศไทย“ อย่างชัดเจน เพราะเป็นการออกกฏหมายฝ่ายเดียวโดยไม่ใช้หลักกฎหมายสากลฉบับใดมาอ้างอิงเลย
(3) จากกฎหมายเถื่อนทางทะเลทั้ง 2 ฉบับนี้เอง กัมพูชาจึงไม่ยอมให้การรับรอง อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฏหมายทะเล ค.ศ. 1982 ( UNCLOS) ทั้งๆที่ทุกชาติในอาเชียนเค้ารับกันหมดแล้ว เพราะกลัวว่าจะเสียพื้นที่ทับซ้อนใกล้เกาะกูดไป
(4) การเจรจาระหว่างไทย กับ กัมพูชา ตาม MOU 44 ที่เกิดขึ้นในยุคคุณทักษิณนั้น ตามลำดับการเจรจาแล้ว ควรจะเน้นเรื่องเขตพื้นที่ทางทะเลของแต่ละประเทศก่อน เพื่อให้รู้ว่าควรจะแบ่งผลประโยชน์กันแบบใด เพราะไทยใช้กฏหมายสากล พื้นที่ทับซ้อนนั้นจึงน่าจะอยู่ในเขตไทยหรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ พื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นพื้นที่อธิปไตยของไทยเต็มๆ แต่กัมพูชาใช้กฏหมายที่เขียนขึ้นตามใจตัวเอง อ้างว่ามีพื้นที่ทับซ้อนด้วย(เยอะเชียว) ซึ่งรัฐบาลไทยก็ดันไปออกตัวรับเลย แล้วบอกว่า มาแบ่ง”ผลประโยชน์”กันคนละ 50% นะ
เอาว่าถ้าหยุดตรงนี้ก็พอทน แต่ถ้ากัมพูชาไปฟ้องศาลโลก จะเอาเกาะกูด
ซึ่งอย่านึกว่าเป็นไปไม่ได้นะ มวยไทย สงกรานต์ ฯลฯ โดนมาหมดแล้ว.. โดยอ้างว่า ได้มีข้อตกลงทำธุรกิจกับไทยแล้ว ถึงมาแบ่งกันคนละ 50% ซึ่งไทยก็ไม่เห็นทักท้วงเส้นเขตแดนอะไรเลย ไทยจะทำอย่างไร ขึ้นศาลโลกก็อาจแพ้อีก เพราะอะไรก็รู้กันดี นอกจากนั้น กัมพูชายังสามารถอ้างข้อตกลงเมื่อตอน คุณทักษิณเป็นนายกฯไปเยือนกัมพูชา(18-19 มิ.ย. 44) แล้วไปทำ Joint Communique (ข้อ 15) หรือแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ ระหว่างไทยกับกัมพูชา สรุปได้ว่าทั้งสองฝ่ายแสดงความพึ่งพอใจในความพยายามต่างๆซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมาและให้การรับรองบันทึกความเข้าใจระหว่าง กัมพูชา กับ ไทย ว่าด้วย พื้นที่ ที่ทั้ง 2 ประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เจ๊งลูกเดียว ซ้ำรอยเขาพระวิหารอีกครับ
4. ลืมบอกไปครับ ว่า โดยหลักการแล้ว ทั้ง MOU และ Joint Communique ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เดี๋ยวจะหาว่าเขียนเอามัน ดังนั้นยกเลิกได้ครับ ไม่ถูกฟ้องหรอกครับ แต่อาจถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลแวดล้อมในศาลโลกได้ดีกว่ากรณี กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสียอีก ครับ
ก็ขอให้ คนคิดเรื่องนี้ ถ้าคิดดี ก็ขอให้เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าคิดไม่ดีก็ขอให้ เรื่องไม่ดีกลับไปที่ที่ตัวเองชอบนะครับ