สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานล่าสุดถึงสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ประจำปี 2566 ชี้ปัญหาเกี่ยวกับความเปราะบางของคนจนประเทศไทยที่ยังคงเป้นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้จำนวนคนจนของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จากรายงานครั้งล่าสุดที่พบว่ามีจำนวน "คนจนไทย" อยู่ที่ 2.39 ล้านคน
สศช.รายงานว่า ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าแนวโน้มความรุนแรงของความยากจนในประเทศไทยจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับตัวลดลงของสัดส่วนคนจนมาก คนจนน้อย และคนเกือบจน ที่ลดลงจาก 5.15% 8.07% และ 11.52% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 0.90% 2.52% และ 5.67% ในปี 2566 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หากต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ควรให้ความสำคัญกับความเปราะบางของความยากจนหรือกลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่ใกล้กับเส้นความยากจน (กลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่มากกว่าหรือน้อยกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย) เนื่องจากกกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนจนได้ง่าย
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่และศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในระยะยาวเพราะไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
สศช. รายงานข้อมูลว่า กลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจน ยังคงเผชิญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความเสี่ยงได้อย่างชัดเจน โดยในปี 2566 สัดส่วนคนเปราะบางต่อความยากจนอยู่ที่ 8.19% หรือคิดเป็น 5.74 ล้านคน
แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับสัดส่วนคนจน แต่ช่องว่างระหว่างสัดส่วนคนจนและสัดส่วนคนเปราะบางต่อความยากจนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่า ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและเพียงพอต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืนให้แก่กลุ่มดังกล่าว
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากลักษณะสำคัญของกลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจน พบว่า มากกว่า 4 ใน 5 ของคนเปราะบางต่อความยากจนอาศัยอยู่ในครัวเรือนขนาดกลาง (4 – 6 คนต่อครัวเรือน) ส่วนใหญ่มีหัวหน้าครัวเรือน เป็นเพศชาย 61.34% และมีระดับการศึกษาสูงสุดที่ประถมศึกษาเท่านั้น 89.88% รวมทั้งเกือบครึ่งหนึ่ง 48.92% ไม่ได้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economically Inactive) โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กรวมกันถึง 33.61%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ พบว่าคนเปราะบางต่อความยากจนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วน 21.12% ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และ 18.06% เป็นลูกจ้างเอกชน
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม 3 ใน 4 เป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ และการสนับสนุนการผลิตพืชผล ทำให้การประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ และส่งผลให้ได้รับ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปัญหาจากฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกและปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำ
สรุปแล้ว ลักษณะของกลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจน บ่งชี้ให้เห็นถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างสำคัญที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนจน ทั้งการอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนมีระดับการศึกษาต่ำ มีสมาชิกครัวเรือนอยู่ในวัยพึ่งพิงและไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสูง และประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่มีผลิตภาพต่ำทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้เกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและอนาคต