xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย”ถาม“พิธา”กรณีเสนอให้ทำเกาะกูดให้ชัดเจน รับรองได้ไหมไม่เกิดเหตุซ้ำรอยเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า พิธาเสนอให้ทำเกาะกูดให้ชัดเจน

นายพิธาเสนอให้รัฐบาลทำเรื่องเกาะกูดให้ชัดเจน เชื่อลดชาตินิยมล้นเกิน และจะได้หันไปทำเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ผมตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ในทะเลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลนี้จะเร่งเจรจา MOU44 พรรคการเมืองก็ต้องดูแลประชาชน

ประเด็นเรื่องเกาะกูด ต่างหากจากประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ในทะเล ดังนี้

1 เขตสิทธิประโยชน์ในทะเล ขึ้นอยู่กับเส้นเขตแดน

2 พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน เกิดจากเส้นของสองประเทศเหลื่อมกัน ถ้าตกลงกันได้ ก็ทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

3 ตัวอย่างพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย ตีกรอบด้วยเส้นเขตแดนที่ประกาศโดยสองประเทศ

ทั้งสองเส้น เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ เพียงแต่ตีความเรื่อง เกาะโลซิน แตกต่างกัน

ไทยถือโลซินเป็นเกาะ มาเลเซียถือเป็นเพียงโขดหิน เมื่อเห็นต่างกัน ก็ยอมพัฒนาร่วมกัน

4 กรอบของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เกิดจากเส้นเขตแดนที่ผ่านเกาะกูด ทำให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนใหญ่ถึง 26,000 ตร.กม.

แต่เส้นดังกล่าว ขัดและบิดเบือนสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส

จึงไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ แตกต่างจากกรณีมาเลเซีย

5 ถ้าใช้เส้นที่ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ จะทำให้ไทยเสียสิทธิประโยชน์ในทะเล

6 ในชั้นแรก เสียสิทธิประโยชน์ในทะเล ในชั้นที่สอง ไทยเสี่ยงจะเสียเกาะกูด

ถามว่า ไทยเสี่ยงจะเสียเกาะกูด เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร อย่างไร?

ถึงแม้แผนที่ฝรั่งเศสที่แสดงเขาพระวิหารอยู่ในกัมพูชาขัดกับข้อตกลง แต่ไทยก็ยังเสียเขาพระวิหาร

ศาลโลกวินิจฉัยว่า กัมพูชาส่งแผนที่ดังกล่าวมาให้ไทยหลายครั้ง แต่ไทยไม่ได้โต้แย้ง จึงเป็นการยอมรับโดยปริยาย

ดังนั้น ถามนายพิธา ใครรับรองได้ว่า จะไม่เกิดเหตุทำนองเดียวกัน

ในเมื่อไทยลงนามใน MOU44 ที่มีเส้นเขตแดนกัมพูชาลากผ่านเกาะกูด

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ