นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านอาเซียนเติบโตและฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น เวียดนาม โต 6.1% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเชีย 5.0% มาเลเซีย 4.9% และสิงคโปร์ 3.0% แต่ไทยยังคงฟื้นตัวช้าและโตต่ำเพียง 2.4% (World Bank) โตสูงกว่าพม่า (1%) เพียงประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับโพลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ก.ย.67) ที่พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 18 เดือน (48.8%) สะท้อนความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มเปราะบางแล้วก็ตาม
หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศได้ เศรษฐกิจไทยยิ่งฟื้นตัวช้า การเติบโตที่ไม่เพียงพอจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าและดึงดูดเงินลงทุน รวมทั้งพัฒนาประเทศ และล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดปี 2571 ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามและฟิลิปปินส์จะแซงไทย ขนาดเศรษฐกิจไทยจะหล่นเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน โดยสาเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านโตสูงกว่าไทยถึง 2 เท่าทุกปีนั้นทำให้ SCB EIC ออกมาเตือนไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง ทั้งหมดสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนต้องฟื้นคืน พร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้ รัฐบาลมี 2 โจทย์ใหญ่ในการแก้เศรษฐกิจ คือ โจทย์ข้อแรกเร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว แก้หนี้อย่างจริงจัง โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก แตะระดับ 16.32 ล้านล้านบาท หรือ 89.61% ของ GDP รัฐบาลประกาศแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรก โดยรัฐบาลต้องปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้สามารถชำระได้จริง พร้อมเพิ่มทักษะ สร้างโอกาสหารายได้ และต้องเริ่มจากฐานรากอย่างเท่าเทียม ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
โจทย์ที่สอง เร่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการเร่งลงทุนเพิ่มทักษะคนไทย สร้างความเข็มแข็งตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากพร้อมยกระดับศักยภาพ SME ส่งเสริมอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ พร้อมสังคยานากฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะการส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยอดส่งออกของไทย 9 เดือนแรก ขยายตัว 3.9% ส่วนเวียดนามและมาเลเซียพุ่ง 15.3% และ 8.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค นอกจากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนต้องดูเม็ดเงินลงทุนจริงในระบบเศรษฐกิจ
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงบประมาณเพื่อฟื้นเศรษฐกิจต้องคุ้มค่า ลำดับความสำคัญการเติบโตต้องควบคู่กับวินัยการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากภายในและเรียกคืนความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟุบลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในเวทีโลก