พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ถึงกรณีที่คดีตากใบหมดอายุความ แต่ตำรวจไม่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ หนำซ้ำยังมีกรณีที่ปลัดอำเภอท่าอุเทน ในจังหวัดนครพนม กลับมาปฏิบัติหน้าที่ภายหลังจากที่คดีหมดอายุความ ว่า ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือกระบวนการดำเนินคดี และการติดตามผู้ถูกออกกมายจับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีของคดีนี้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2547 มีกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและผู้สูญเสีย การร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งจะต้องมาพิจารณาว่าการร้องทุกข์กล่าวโทษเกิดขึ้นเมื่อไร ทั้งการร้องทุกข์กล่าวโทษจากประชาชน และการร้องทุกข์กล่าวโทษจากตำรวจ จนอัยการสั่งฟ้อง จนนำไปสู่การออกหมายจับครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ซึ่งตำรวจใช้ระยะเวลาเพียง 40 กว่าวัน เพื่อไปตรวจค้นตามสถานที่ต่างๆ กว่า 30 ครั้งทั่วประเทศ โดยที่ตนเองได้กำชับเจ้าหน้าที่ด้วยว่าจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับภายใต้กรอบระยะเวลาที่จำกัด นอกจากนี้ ยังมีการไปเฝ้าและไปสืบอีกกว่า 200 ครั้ง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้คือความมุ่งมั่นของตำรวจต่อคดีดังกล่าว
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีอุปสรรคอะไรที่ส่งผลให้ศาลอนุมัติหมายจับครั้งแรกในปีนี้ หลังจากที่คดีผ่านมาเกือบ 20 ปี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีนี้ก็ต้องไปดูเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษ ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากที่ผ่านมามีการพูดคุย เจรจา รวมถึงร้องทุกข์กล่าวโทษกันอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อเกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็จะเป็นขั้นตอนของการดำเนินคดี และนำไปสู่การออกหมายจับ และอยากให้เข้าใจตำรวจว่าตั้งแต่หมายจับออก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ย้ำไปสู่ผู้ปฏิบัติ ทั้งกระบวนการด้านหนังสือ เช่น การประกาศสืบจับ การประสานงานกับกองการต่างประเทศ องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (อินเตอร์โพล) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) รวมถึงด้านการปฏิบัติ ที่หากพบข้อมูลของผู้ถูกออกหมายจับว่าอยู่ที่ใด ก็จะต้องไปติดตาม โดยกล่าวว่า "แมวไล่จับหนูไม่ใช่เรื่องง่าย" โดยเฉพาะในเวลาเพียง 40 วัน ก่อนคดีหมดอายุความเช่นนี้
ส่วนกรณีที่มีการนำคดีตากใบไปเปรียบเทียบกับกรณีของคดีแป้ง นาโหนด ซึ่งผู้ถูกออกหมายจับหนีไปต่างประเทศเช่นกัน แต่สามารถจับกุมตัวได้นั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากตัวอย่างนี้ก็มีอีกหลายกรณีที่ทั้งจับได้และจับไม่ได้ โดยความยากง่ายนั้นต่างกัน และยืนยันว่าได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดแล้ว ในการพยายามจับกุมผู้ถูกออกหมายจับตามคดีตากใบ
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากที่คดีหมดอายุเพียง 2 วัน หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ก่อนหน้านี้ตำรวจไม่สามารถติดตามตัวได้เลยจะกลายเป็นที่ครหาหรือไม่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เข้าใจว่าจะต้องมีข้อครหา หรือข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งตำรวจเองไม่ได้หยุดดำเนินการ แต่ผู้ที่หลบหนีนั้น เป็นไปได้ว่าอาจทราบความเคลื่อนไหวของตำรวจ ซึ่งเมื่อหมดอายุความก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย การดำเนินคดีเป็นก็เป็นอันสิ้นสุด พร้อมยืนยันด้วยความมั่นใจว่า ตำรวจทำเต็มที่แล้ว โดยขอให้ดูอีกหลายเรื่องที่ตำรวจทำสำเร็จ และถามกลับว่า จะนำเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวมาชี้วัดการทำงานของตำรวจหรืออย่างไร