พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรค และ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภาคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU 2544
นายไชยมงคล กล่าวว่า จากการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธาน ได้มีการหารือและถอดบทเรียนอย่างละเอียดกรณี MOU 2544 จึงมีความเห็นร่วมกันว่า MOU 2544 จะนำไปสู่การเสียดินแดนของคนไทย ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจึงขอแสดงจุดยืนว่า พรรคจะรักษาอธิปไตยของชาติ ไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มใดมาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ หรืออาณาเขต โดยเตรียมเข้าชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หยุดการเจรจาในการทำการแบ่งปันก๊าซปิโตรเลียม และน้ำมัน ให้กับกัมพูชา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ โดยจำเป็นต้องคุยเรื่องอาณาเขตให้ชัดเจนก่อน
ขณะที่นายธีระชัย กล่าวว่า ข้อความในเอกสาร MOU 2544 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชา ปี 2515 โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด เมื่อได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU 2444 ขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU 2544 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย
นายธีระชัย กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU 2544 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย
นายธีระชัย ย้ำด้วยว่า ถ้าหากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเล ตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU 2544 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน
ส่วนกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าไม่ต้องห่วงเรื่อง MOU 2544 เพราะกัมพูชาไม่สนใจพื้นที่เกาะกูดนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้เล่าให้ตนฟังว่า สมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ในการเจรจากับกัมพูชา ซึ่งเจรจาไปได้ไม่นาน กัมพูชาก็พูดถึงเกาะกูดทุกครั้ง พล.อ.ประวิตร จึงสั่งให้เลื่อนการเจรจาออกไป ทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า เกาะกูดอยู่ในใจของกัมพูชาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องฝากความหวังไว้ที่ พล.อ.ประวิตร เพื่อจะช่วยรักษาดินแดนของไทยเอาไว้
ด้านหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ กล่าวถึงความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย กับ ไทย-เวียดนาม ที่สามารถปฏิบัติตามกฏหมายสากล แล้วยังมีพื้นที่ทับซ้อนกัน แต่ก็ได้เจรจา ในขณะที่ไทย-กัมพูชา มีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลปี 2513 โดยไทยยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ระหว่างเจรจา ฝ่ายกัมพูชาก็ประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 โดยไม่ได้เป็นไปตามกฏหมายสากลเพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทย จึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทย ฝั่งอ่าวไทยปี 2516 ทำให้เห็นได้ว่าเส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลง
แต่เพียง 2 เดือนของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 รัฐบาลนำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ เริ่มเจรจา 21 เมษายน 2544 และตกลงเซ็นเอ็มโอยู 2544 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2544 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่นี้เดิมไม่มีกฎหมายรับรอง
ดังนั้นการที่รัฐบาลอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน บดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูก เพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรอง เข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซีย อย่างชัดเจน
พรรคพลังประชารัฐ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิก MOU 2544 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เขตของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดพื้นที่ของสยาม เพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง
นายชัยมงคล กล่าวปิดท้ายว่า "ใครจะว่าเราคลั่งชาติ เราไม่ใส่ใจ เราจะไม่ค้อมหัวให้คนที่ต้องการผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ต้องการคุกเข่าให้คนที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์กับแผ่นดินไทย เราจะปกป้องแผ่นดินนี้ แม้จะเป็นคนสุดท้ายก็ยอม โดยเราจะต่อสู้ทั้งในและนอกสภา ส่วนการยื่นหนังสือเปิดเผยถึงนายกรัฐมนตรีจะมีการนัดหมายกันอีกครั้ง"
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นในเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยมงคล กล่าวว่า เราพร้อมคุยกับทุกพรรคการเมือง และประชาชนทุกคน ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนถ้ายื่นไปแล้วไม่มีการตอบสนองจากนายกฯ ในทางนอกสภา จะทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าถึงเวลาที่ต้องลุกมาปกป้องดินแดน ส่วนในสภาก็จะดำเนินการตามขั้นตอน