นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่งหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบสมาชิกภาพของนายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเหตุต้องสิ้นสุดลง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบสส.อีก 4 ราย ตามที่ปรากฏในภาพข่าวว่ามีส่วนร่วมกับกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้อง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ลงข่าวหัวข้อ รองประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน มีข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท The Icon Group และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย ไว้ดังนี้
"วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายกันต์พงษ์ พร้อมด้วย นายประเสริฐพงษ์ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อกังวลการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท The Icon Group ที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้
ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ได้มีคำสั่งครม.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ตนและสส.พรรคประชาชน มีข้อกังวลที่จะฝากถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงคำสั่งดังกล่าวที่มีกรรมการบางรายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการเบี่ยงเบนประเด็น หรือการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือข้อมูลที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงได้ และได้ทราบข่าวว่าจะโอนเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พ้นผิดหรือไม่
จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมและในวันนี้ช่วงบ่ายพรรคประชาชน จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.การขายตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย"
ซึ่งปรากฏตามภาพการแถลงข่าวที่ระบุว่า "จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…" นั้น อาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) ตามมาได้ และเมื่อ (7) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เมื่อตรวจสอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค จากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุไว้ว่า คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่และอำนาจ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
ดังนั้น การแถลงข่าวในส่วนที่ว่า "…จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…" จึงอาจไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงไม่ควรมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่