นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีการช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และเลย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และน้ำล้นตลิ่งกั้นน้ำของแม่น้ำโขง ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดหนองคายได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ต้นเดือนกันยายายนถึงเดือนตุลาคม 2567 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 681 ครัวเรือน
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พอช. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานทีม พม. หนึ่งเดียว จังหวัดหนองคาย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดหนองคาย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลความเสียหาย พบว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง มีความต้องการเร่งด่วนในด้านการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย การสนับสนุนด้านอาหาร และอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ หน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดหนองคาย นำโดย พอช. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้เริ่มดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดกิจกรรมประกาศ คิกออฟ ร่วมใจซ่อมแซมที่อยู่อาศัยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยนายจำลักษณ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรม ซึ่ง พอช. อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการฟื้นฟูและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จำนวน 681 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 3,446,405 บาท พร้อมทั้งวางแผนการฟื้นฟู และซ่อมแซมบ้านเรือน วางระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม ให้กับประชาชนในแต่ละอำเภอได้เข้าอยู่อาศัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งแยกตามรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอท่าบ่อ 345 ครัวเรือน อำเภอโพนพิสัย 57 ครัวเรือน อำเภอเมืองหนองคาย 201 ครัวเรือน อำเภอรัตนวาปี 3 ครัวเรือน อำเภอศรีเชียงใหม่ 72 ครัวเรือน และ อำเภอสังคม 3 ครัวเรือน
นอกจากนี้ มีการสร้างระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ชุมชนไปพร้อมด้วย เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ มีระบบเตือนภัย และมีภูมิคุ้มกันภายในชุมชน เป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ