วันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 09.30 น. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการ ปภ. จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 11 สุราษฎร์ธานี และ เขต 15 เชียงราย ต่างยังคงเร่งฟื้นฟูฟื้นที่ประสบภัยในจังหวัดลเชียงรายอย่างเต็มกำลัง ทั้งด้านการฟื้นฟู เพื่อคืนพื้นที่ให้กับประชาชนในโซนพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย และด้านการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเข้าปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยในภาพรวมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้น 21 รายการ 70 คัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวม 74 คน และยังคงปักหลักช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
สำหรับการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 นั้น ปัจจุบัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้ให้ความเห็นชอบกับการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอแล้ว และในวันนี้ จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จากเดิมที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่อาศัยและให้อัตราการช่วยเหลืออยู่ที่ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท ตามลำดับ โดยจะปรับใหม่เป็นทั้งกรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และกรณีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราเท่ากันที่ 9,000 บาท
โดยผู้ประสบภัยที่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมไปแล้วครัวเรือนละ 5,000 บาท หรือ 7,000 บาทให้มีการโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ความปกติโดยเร็ว และเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้วยหลักเกณฑ์สูงสุด
ในส่วนของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากดินโคลน มีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน เครื่องมือ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการ กรมบัญชีกลางจึงได้อนุมัติให้จังหวัดสามารถปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ด้านการดำรงชีพ เป็นค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดดินโคลน รวมทั้งซากวัสดุต่าง ๆ บริเวณที่อยู่อาศัยประจำ โดยผู้ประสบภัยต้องเป็นเจ้าของ หลังละ 10,000 บาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งไม่รวมถึงที่อยู่อาศัยประจำที่เสียหายทั้งหลัง หรือที่อยู่อาศัยประจำที่ส่วนราชการหรือส่วนอื่น ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือในการทำความสะอาดเรียบร้อยและผู้ประสบภัยได้เข้าไปดำรงชีวิตตามปกติ ทั้งนี้ กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจะได้ประสานให้จังหวัดพิจารณาการใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ ให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากดินโคลนในส่วนนี้ด้วย