รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ทัศนศึกษา
เป็นกระบวนการเรียนการสอน/วิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยผู้เรียนจะได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรง การลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจและจดจำสิ่งที่ได้พบเห็นในเวลาอันรวดเร็วและเป็นเวลานาน และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้เป็นการใช้แหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
...หากความหมาย และเป้าหมายของทัศนศึกษาเป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การจัดกระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้ จึงควรออกแบบตามความเหมาะสมของทรัพยากรที่มี ทั้งเรื่องงบประมาณ กำลังคน เวลา และคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งครูและนักเรียนเป็นสำคัญ
หากเงินน้อย จำนวนครูน้อย สภาพรถไม่ดี ไม่มีอุปกรณ์ฉุกเฉินมาตรฐานอย่างเพียงพอ มีการดัดแปลงรถเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต การตรวจสภาพรถเป็นที่น่ากังขา ความชุกของการฝ่าฝืนกฎจราจรมีสูง ลองบวกลบคูณหาร มองด้วยใจที่ปราศจากอคติ บนโลกแห่งความเป็นจริงที่เห็น แล้วสวมหมวกเป็นครู เด็ก และพ่อแม่ ไม่ยืนกรานกระต่ายขาเดียวด้วยเลนส์โลกสวยและทฤษฎี และให้คุณค่ากับชีวิตทุกชีวิต
ย่อมตัดสินใจได้ว่าควรจัดรูปแบบทัศนศึกษาเช่นไร
มาตรฐานสูงแบบต่างประเทศ หากทำได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน ย่อมดีแน่นอน และทุกคนย่อมปรารถนา
แต่หากทำได้ยาก ใช้เวลาในการพัฒนาทั้งคนและระบบ ก็จำเป็นต้องประกาศมาตรการระยะสั้นเพื่อการป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อน ที่ทำได้จริง ตามทรัพยากรที่มีอยู่ และบรรลุเป้าหมายของทัศนศึกษา
ย้ำอีกครั้งว่า แต่ละโรงเรียน ผู้อำนวยการและคุณครู รวมถึงผู้ปกครองและนักเรียน สามารถหารือร่วมกัน ออกแบบทัศนศึกษาของเราเอง ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และปลอดภัยได้ ภายใต้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น
ที่สำคัญ ทัศนศึกษาควรเป็นการตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่ Top down ที่ฝืนธรรมชาติและทำให้เกิดความเสี่ยงที่ต้องไล่ตามแก้ไข เพราะเมื่อเกิดเหตุสูญเสียขึ้นมาแต่ละครั้ง ย่อมไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้