น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่อาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน และเค็มจัด จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ประชาชนควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน เกือบ 2 เท่า การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเกินกว่าคำแนะนำ มีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน แบ่งเป็น โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน ที่สำคัญพบเยาวชนอายุ 17-24 ปี บริโภคโซเดียมเกินถึง 3,194 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลง จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50–60 ปี
ทั้งนี้ เทศกาลกินเจ 2567 สสส. แนะนำ 8 วิธีเลือกกินอาหารเจง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก 1.เลือกผักหลากสี เพื่อรับวิตามินซีที่ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก มีไฟเบอร์สูง ทำให้อิ่มง่าย เช่น ผักโขม เห็ดฟาง 2.เลือกข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีททดแทนแป้ง 3.เลือกโปรตีนจากเต้าหู้ ถั่ว และธัญพืช 4.เลือกปรุงอาหารด้วยน้ำมันดีหรือเติมน้ำมันแต่น้อย (น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน) 5.เลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง 6.เลือกผลไม้หวานน้อย เช่น ชมพู่ ฝรั่ง แก้วมังกร 7.เลือกอาหารที่ไม่หวานหรือเค็มจัด 8.เลือกอาหารที่อิ่มนาน ทั้งมื้อหลักและของว่าง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การกินเจปีนี้ได้ทั้งบุญได้ทั้งสุขภาพ
ขณะที่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า โซเดียมมีอยู่ในองค์ประกอบของอาหารแทบทุกอย่าง มีโซเดียมที่เกิดจากการใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ผสมในอาหาร หรือการถนอมอาหาร โซเดียมแฝงในเครื่องปรุงรส หรือส่วนผสมของอาหาร เช่น ผงฟู (โซเดียมไบคาบอเนต) ในเบเกอรี่ จึงควรหันมาสนใจลดการกินโซเดียม (รสชาติเค็ม) ช่วงเทศกาลกินเจ หลายคนนิยมเลือกอาหารเจแบบแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูป เพราะหาซื้อได้สะดวก ผลสำรวจกลุ่มอาหารแช่แข็ง 53 รายการ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูง 890 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 300 รายการ เช่น บะหมี่ โจ๊ก ซุปกึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียมเฉลี่ยสูง 1,240 มิลลิกรัม ซึ่งการบริโภคโซเดียมในปริมาณสูง อาจส่งผลกระทบให้เกิด 6 อาการเบื้องต้น 1.กระหายน้ำ 2.ท้องอืด 3.น้ำหนักขึ้นเร็ว 4.ใต้ตา มือ เท้าบวม 5.เหนื่อยง่าย 6.ความดันโลหิตสูง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนสามารถปรับลิ้นรับรสได้ในเวลา 21 วัน ด้วยสูตร 3 สัปดาห์ ปลุกลิ้น-ปรับลิ้น-เปลี่ยนลิ้น เริ่มจากช่วงเวลากินเจ 7 วันแรก ปลุกลิ้น เลือกเเละกินอาหารที่จืดลงเพื่อให้ลิ้นเริ่มปรับตัว 14 วันต่อมา ปรับลิ้น ปรุงอาหารหรือสั่งเมนูเค็มน้อย พอครบ 21 วัน เปลี่ยนลิ้น ลิ้นจะรับรสอร่อยกับรสที่จืดลง ติดตามแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเค็มเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดเค็ม ลดโรค