นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศไทย แถลงว่า จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) ที่รถทัศนศึกษาของนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุ และเกิดเพลิงลุกไหม้ ตนต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว และชาวจังหวัดอุทัยธานีด้วย ในฐานะสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎระเบียบกฎหมายและมาตรฐานอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯเพื่อตั้งเป้าที่จะลดการสูญเสีย เพราะในแต่ละปีเกิดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 17,000-20,000คน ดังนั้นคณะกรรมการชุดนี้จะพยายามจลดอุบัติเหตุและลดจำนวนการสูญเสียให้น้อยลงทุกๆ ปีให้ได้ โดยในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการฯ จะเชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 50 คน มาพูดคุยบูรณาการหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ รถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้ รถบัส เป็นรถที่จะต้องดูแลอย่างรอบคอบ ซึ่งรถแท็กซี่มีอายุการใช้งาน 7 ปี รถตู้ขอผ่อนผันได้ถึง 10 ปี ส่วนรถบัสข้อกำหนดที่ใช้งาน จำเป็นจะต้องมีเหมือนแท็กซี่ ไม่ใช่ว่ารถอายุ 50 ปี แล้วมาดัดแปลงส่วนประกอบใหม่ จึงต้องมีมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น การรับจดแจ้งขึ้นทะเบียนรถประกอบที่นำหลายชิ้นส่วนมาประกอบและขอจดทะเบียน จะต้องมีมาตรฐาน โดยทางกระทรวงคมนาคมจะต้องสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ใหม่ให้ได้มาตรฐานกว่านี้ ไม่ใช่ว่าพอเข้าองค์ประกอบแล้วผ่าน และ ที่จะต้องกำหนดมาตรฐานสูงสุดคือเด็กและเยาวชน เวลาจะทัศนศึกษาข้ามจังหวัด จะต้องดูว่ามีรถนำหรือไม่ ขับขี่ใช้ความเร็วเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีความเข้มงวด
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้ออกกฎหมาย จะต้องเข้มงวดและนำโศกนาฎกรรมครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องนำมาปรับปรุงมาตรฐานการใช้งานของรถบนท้องถนนและอายุการใช้งาน และจากนี้ไปในพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีการดับเพลิงที่ทันท่วงที เวลาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงประจำรถให้ได้มาตรฐานและควรทำอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ก็จะเน้นเรื่องโดรนดับเพลิง เพราะบางครั้งอาคารสูงหรือบนท้องถนน ไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ทันท่วงที จึงต้องผลักดันในเรื่องการใช้โดรนสำหรับดับเพลิงขึ้นมาในเมืองหลวง รวมถึงการตรวจสอบสภาพของรถที่จะเดินทางสำหรับการทัศนศึกษา ไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปหากเดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล ควรต้องตรวจเช็กรถให้ได้มาตรฐาน และมีกระบวนการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายให้เคร่งครัด เช่น มีรถนำ เพราะหากเกิดการสูญเสียแบบนี้ไม่คุ้มค่า ซึ่งพวกเรามีลูกมีหลานก็ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ส่วนที่กระแสสังคมให้ยกเลิกการทัศนศึกษานั้น นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ไม่ควรยกเลิกการทัศนศึกษา เพราะเป็นกระบวนการที่จะเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ ไม่ว่าเด็กนักเรียน หรือประชาชนจำเป็นจะต้องเดินทาง ดังนั้น ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ก็คงจะได้มีการพูดคุยเพื่อหามาตรการร่วมกัน ทั้งมาตรการด้านกฎหมายก็จะรีบทำ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และหัวใจสำคัญคือกฎหมายที่จะบังคับใช้กับผู้ประกอบการ