นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศปช.ส่วนกลางได้ติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังฝนตกหนักซ้ำในพื้นที่เสี่ยงเดิม ในช่วงวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2567 โดยเฉพาะภาคเหนือ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากฝนตกหนักซ้ำที่เดิม เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร เนื่องจาก มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปะทะกับความชื้นส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักมากถึงบริเวณจังหวัดดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 ตุลาคม ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนเจ้าพระยา ยังสามารถรับน้ำได้ 6,500 กว่าล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 26% ของความจุทั้งหมด
กรมควบคุมมลพิษ เตรียมพร้อมแนวทางการบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสีย ได้มีการเร่งขนขยะน้ำท่วมออกจากจุดพักขยะ จัดจ้างรถบรรทุกเพื่อขนขยะเพิ่มเติม พร้อมทั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการแจกจ่าย EM น้ำ เพื่อทำความสะอาดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านร่องเสือเต้น ชุมชนบ้านใหม่ จึงขอประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหากลิ่นขยะในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ซึ่งประชาชนสามารถขอรับ EM น้ำโดยติดต่อรับได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่)
สำหรับภาพรวมการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 160 ราย ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. 13 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 2,112 ราย ผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายคงเดิม 53 ราย และ 1 ราย
มีการเปิดศูนย์พักพิงในพื้นที่ 13 จังหวัด จำนวน 111 แห่ง รองรับประชาชนได้ 25,260 ราย ขณะนี้มีประชาชนเข้าพัก 663 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 87 แห่ง ใน 16 จังหวัด ในจำนวนนี้ยังต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย, รพ.สต.ป่าแมต จ.แพร่ และรพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้านและตรวจรักษาประชาชน 417 ราย รวมทั้งออกดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฟอกไต ผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 261 ราย และสื่อสารความรู้ในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานถึงผลการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน 2567 ตามมติ ครม. 17 ก.ย.67 ประชาชนยื่นคำร้องในระบบ 45 จังหวัด 38,758 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสิน 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 26 – 30 กันยายน รวม 7,327 ครัวเรือน ผลการดำเนินงาน การเงินเยียวยาผ่านพร้อมเพย์ โอนสำเร็จ 5,733 ครัวเรือน รวมเป็นจำนวนเงิน 28,707,000 บาท
ครั้งที่ 1 (27 ก.ย.67) โอนสำเร็จ 2,893 ครัวเรือน จำนวนเงิน 14,465,000 บาท ครั้งที่ 2 (30 ก.ย.67) โอนสำเร็จ 2,840 ครัวเรือน จำนวนเงิน 14,242,000 บาท และครั้งที่ 3 คาดว่าจะจ่ายเงินได้ภายในวันที่ 2 ตุลาคมนี้
นายจิรายุ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วันนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ส่วนหน้า จ.เชียงราย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจาก 37 จังหวัด รวมกว่า 1,400 นาย ที่ระดมทีมช่วยเหลือและฟื้นฟูจังหวัดเชียงราย และร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยที่ศาลากลาง จ.เชียงราย และข้อมูลจาก ปภ. มีการกำหนดกรอบทิศทางการฟื้นฟูที่ชัดเจนโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการทรัพยากรในการฟื้นฟูอย่างยิ่งในส่วนของ จ.เชียงราย อ.เเม่สาย อ.เวียงปาเป้า ให้เป็นรูปธรรม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ให้มีการเเบ่งโซนกันอย่างชัดเจน และให้ ศปช.ส่วนกลางจัดทำไทม์ไลน์ เสนอ ศปช. ส่วนหน้า ภายใน 5 ตุลาคม โดยกรอบในการติดตาม ภาพรวมของการฟื้นฟูทั้งจังหวัด ทาง ศปช. ส่วนกลางจับปรับให้สอดคล้องกับ ศปช.ส่วนหน้าด้วย