xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 3 สมุนไพรลดไขมัน ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ได้แก่ ประวัติครอบครัว ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะอ้วน เพศ อายุ และระดับไขมันในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ 3 สมุนไพรไทยที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ 1) กระเทียม ในกระเทียมมีเอนไซม์อัลลิเนส (allinase) โดยการนำกระเทียมไปบด หั่น หรือการสับ ก่อนรับประทาน เพื่อกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเทียมผลิตสารที่มีสรรพคุณออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

2) ดอกคำฝอย สรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงน้ำเหลือง และบำรุงประสาท

3) กระเจี๊ยบแดง เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร สรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด โดยลดการสร้างไขมันและเซลล์ไขมัน ลดการเกิดออกซิเดชันของ LDL (ไขมันไม่ดี) สำหรับกระเจี๊ยบแดง มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

นอกจากการใช้สมุนไพรเหล่านี้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ อาหารทอด และอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม สำหรับเมนูที่อยากแนะนำ เช่น เห็ดรวมตุ๋นกระเทียมพริกไทย ปลานึ่งมะนาว ต้มจืดใบกะเพรา ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง

ในส่วนการออกกำลังกายแบบวิถีไทยด้วยฤๅษีดัดตน เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถเลือกปฏิบัติได้เช่นกัน โดยเป็นท่าการบริหารร่างกายที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก นอกจากจะได้ความแข็งแรงจากการฝึกปฏิบัติทางร่างกาย ยังเป็นการฝึกลมหายใจ ร่วมกับการทำสมาธิ ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย นับเป็นการออกกำลังกาย สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดตามได้จากช่องทางยูทูบกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ควรควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร สามารถของคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM