วันนี้ (27 ก.ย.) เป็นวันแรกที่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดย กระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 3,623 ครัวเรือน แยกเป็นครัวเรือนใน อ.เมืองเชียงราย 3,305 ครัวเรือน อ.แม่สาย 222 ครัวเรือน และ อ.ขุนตาล 96 ครัวเรือน
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
1. บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
2. บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ
3.กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)
สำหรับเอกสารที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน หรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารยืนยันเนื่องจากเอกสารสูหายและเสียหายไปจากสถานการณ์น้ำท่วม จะต้องให้ประชาคมหมู่บ้าน กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3 และนำส่งเรื่องไปยัง ก.ช.ภ.อ. เพื่อส่งต่อให้ ก.ช.ภ.จ ทำการยืนยันเพื่อส่งเรื่องให้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาต่อไป
สำหรับครัวเรือนชุดแรกใน 3 อำเภอของเชียงราย ที่เป็นบัญชีของธนาคารออมสิน เงินจะเข้าบัญชีของผู้ประสบภัยในเวลา 13.35 น. ของวันนี้ (27 ก.ย.) ส่วนที่เป็นบัญชีธนาคารอื่นๆ ก็จะทยอยโอนตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน เช่นกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กำหนดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ไว้ 2 ช่องทาง ทั้งแบบ Onsite และ Online โดยแบบ Onsite ประชาชนสามารถยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเอง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ส่วนแบบ Online จะดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน