นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 30 กันยายน โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของรายงานซึ่ง กมธ.เสนอต่อที่ประชุม พบว่ามีการแก้ไขเพียง 1 มาตรา ในมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ โดย กมธ.ได้แก้เพิ่มเติมไปจากบทบัญญัติที่สภาฯ เห็นชอบ โดยได้เติมข้อความในวรรคสอง กำหนดให้การทำประชามติเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียยงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ซึ่งแปลความได้ว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่เรื่องทั่วๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ "เสียงข้างมากของผู้ออกมาออกเสียง และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ"
ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวต่อการแก้ไขมาตรา 7 นั้น พบว่ามี กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น ได้แก่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. นายกฤช เอื้อวงศ์ นายนิกร จำนง นายวุฒิสาร ตันไชย และ น.ส.อุดมลักษณ์ บุญสว่าง ซึ่งเป็น กมธ.ในโควตาของรัฐบาล
นอกจากนั้น ในรายงานยังระบุถึงข้อสังเกตของ กมธ. ด้วยว่า 1. ในการกำหนดระยะเวลาออกเสียงนอกราชอาณาจักร ควรเผื่อระยะเวลาเพราะแต่ละประเททศมีองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งบัตรเลือกตั้งและบัตรออกเสียงประชามติ ที่พบว่าในอดีตมีความล่าช้าจากหลายปัจจัย
2. การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้รอบคอบ ครบถ้วน โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรมรวมถึงให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักความสำคัญของการออกเสียงประชามติ คณณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยอิสระเท่าเทียม ทั้งผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบ ต้องอำนวยความสะดวกด้านอื่นให้ประชาชนททุกคนเข้าร่วมใช้สิทธิเต็มที่ นอกจากเผยแพร่วัน เวลาและสถานที่ใช้สิทธิเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่มีการออกเสียงประชามติ
3. การออกเสียงลงคะแนนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ต้องสร้างระบบให้มีความน่าเชื่อถือ และดำเนินการได้ภายในวันเดียวกันหรือควบคู่กันเพื่อประหยัดงบประมาณ โดย กกต.ต้องบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระบบดังกล่าวต้องป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และ 4. การตั้งประเด็นคำถาม ควรมีถ้อยคำชัดเจนเพียงพอให้ผู้มาออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ป้องกันปัญหาการตีความ ทั้งนี้หากคำถามประชามติเป็นคำถามเชิงซ้อนควรใช้การออกเสียงแบบแยกย่อยคำถามจนครบทุกประโยเชิงซ้อนด้วย จึงจะถือว่ามีข้อยุติ