xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ย้ำรับมือภาวะน้ำทะเลหนุน 28 ก.ย.-2 ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมชลประทานรายงานสถานการ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา วันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 07.00 น. สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 22 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.07 เมตร

ส่วนสถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,699 ลบ.ม/วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำท้ายเขื่อน ต่ำกว่าตลิ่ง 2.82 เมตร

ปัจจุบันมีฝนตกทางพื้นที่ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ กรมชลประทานได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทั้งคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

ทั้งนี้ กรมชลประทานขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่และปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ขณะที่กรมอุทกศาตร์ทหารเรือ คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำด้วยเช่นกัน

กรมชลประทาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ หลายคนสงสัยว่า ปริมาณน้ำจะไหลลงไปที่ไหนต่อ โดยแม่น้ำปิงจะไหลไปที่จังหวัดตาก ลงสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด และยังสามารถเก็บไว้ใช้ในปีหน้าต่อไปได้ด้วย