นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เปิดตัว (Kick off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยเริ่มทำการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวม 14.55 ล้านคน ในระหว่างวันที่ 25 - 27 กันยายน และ 30 กันยายน 2567
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดตัว (Kick off) โครงการฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. โครงการถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เรื้อรังมานานหลายปี ไม่ใช่เพียงแค่ผลจากปัจจัยภายใน แต่ยังมีผลจากเศรษฐกิจทั้งโลกที่ฟื้นตัวช้า ซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และยังไม่รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ เกิดเหตุอุทกภัย ซึ่งถือเป็นครั้งที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากปัจจัยข้างต้นทำให้เศรษฐกิจไทยฝืดเคือง ไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนใหม่ ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระทบการค้าขาย ประชาชนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อการดำรงชีวิต ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยรวมถึงคนพิการ อย่างไรก็ดี ในอนาคตประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้พร้อมต่อการลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว
2. สำหรับการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เงินสดถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552.40 ล้านบาท สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ลูกแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน โดยแบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 12.40 ล้านคน และกลุ่มคนพิการจำนวนประมาณ 2.15 ล้านคน ทุกคนจะได้รับเงิน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือช่องทางเดิมในการรับเงินเบี้ยความพิการ พี่น้องประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด สามารถรวมเงินกันเพื่อนำไปลงทุนทำมาค้าขาย สร้างหรือต่อยอดธุรกิจ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการจ่ายเงินตามโครงการฯ จะเป็นการช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน สร้างโอกาส สร้างความหวัง นำไปสู่การพัฒนาเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต ให้พี่น้อง มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
3. นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการ Digital Wallet เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ได้ เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐสะดวกขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีรอยยิ้ม สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีอีกครั้ง
ภายหลังจากการกล่าวเปิดงาน นายกรัฐมนตรีได้กดปุ่มโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ได้เริ่มขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมตามแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งในช่วงท้ายของงาน นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) เพื่อสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนของตัวแทนประชาชนที่ได้รับเงิน 10,000 บาท จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วย
อนึ่ง ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินในวันที่ 25 - 30 กันยายน 2567 นี้ สามารถตรวจสอบผลการจ่ายเงินจากรัฐบาลได้จากแอปพลิเคชันธนาคาร ตรวจสอบจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) หรือสอบถาม ณ ธนาคาร นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบผลด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของรัฐในวันถัดไปหลังจากวันที่รัฐจ่ายเงิน ได้แก่
1. เว็บไซต์ https://xn--2567-4doaav1an0gvcuc4hcbc3gua9kpb5czewjlb2p.cgd.go.th/
2. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th
3. แอปพลิเคชัน "รัฐจ่าย"
4. แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ"
5. Call Center กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 0 2270 6400 ตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินหรือรัฐจ่ายเงินไม่สำเร็จในรอบนี้ รัฐจะมีการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) อีกจำนวน 3 ครั้ง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนและตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารให้มีสถานะปกติ (Active) เพื่อให้พร้อมรับเงินตามโครงการฯ ในรอบการ Retry และสำหรับคนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือผู้ได้รับเงินเบี้ยความพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะต้องดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ดังนี้
รอบจ่ายซ้ำจ่ายเงินภายในวันที่ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่
ครั้งที่ 1 22 ตุลาคม 2567 10 ตุลาคม 2567 18 ตุลาคม 2567
ครั้งที่ 2 22 พฤศจิกายน 2567 12 พฤศจิกายน 2567 18 พฤศจิกายน 2567
ครั้งที่ 3 22 ธันวาคม 2567 3 ธันวาคม 2567 16 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ
ช่องทางติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
1. คนพิการ
1.1 เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check
1.2 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
1.3 Call Center กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 3388 ต่อ 701 - 702 (หน่วยงานออกบัตรประจำตัวคนพิการ) หรือศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
1.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่คนพิการรับเงินเบี้ยความพิการ ตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
2. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2.1 ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2109 2345 ตั้งแต่วันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 17.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
2.2 ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง