เพจพรรคเพื่อไทย โพสต์ระบุว่า มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” โดยมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
“มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567’
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมฉบับนี้เดินทางมาไกลกว่า 23 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแต่สังคมในขณะนั้นยังไม่มีความพร้อมจึงทำให้เรื่องนี้ระงับไป มาถึงเมื่อมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีการผลักดันอีกครั้งในชื่อ พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ก็ยังไม่สำเร็จและเกิดรัฐประหาร การผลักดันร่างกฎหมายนี้จึงยุติลงไป จนกระทั่งมาในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วได้มีการเสนอ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ไม่สามารถพิจารณาได้จนครบทั้ง 3 วาระจึงทำให้ตกไปอีกครั้ง
นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบยก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสภาฯ อีกครั้ง จนเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง
จากนั้น 18 มิ.ย. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันอย่างสมบูรณ์