นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าหลังพรรคเพื่ือไทยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นจริยธรรมนักการเมือง ว่า ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 1 ตุลาคม นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะนัด หารือพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนนำเสนอในขณะนี้ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไร และจะหารืออัปเดตเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ไปถึงไหน กฎหมายประชามติไปถึงไหน และจะเริ่มทำได้เมื่อใด จะยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เมื่อใด ซึ่งจะได้ข้อยุติในเรื่องเหล่านี้
ส่วนการเสนอแก้ไขประเด็นจริยธรรมที่ถูกต้งข้อสังเกต และครหาว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ให้กับพวกตัวเอง หรือประโยชน์ทางการเมือง จะสามารถผ่านความเห็นชอบวาระ 1 ของที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เข้าใจดีว่าความรู้สึกของคนในสังคมเรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่ามาอย่างไร และขอย้ำว่าการแก้ไขเพื่อให้เป็นธรรมขึ้น ชัดเจนขึ้น มีระเบียบปฏิบัติ มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น และย้ำว่าไม่ได้เป็นการยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่จะพิจารณาเอาให้ชัดว่า พฤติกรรมเช่นใด นับตั้งแต่เมื่อใด จะได้ไม่มีปัญหาในแง่ของการทำหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องใช้เวลาต้องถามกันวุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ย้ำว่าเราไม่ได้ไปยกเลิกเพิกถอนอะไร เพียงแต่ทำกฎหมายให้ชัดเจน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้เกิดมาตรฐาน ว่าจะชี้วัดอย่างไรเท่านั้นเอง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อีกไม่นานจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อมีปัญหาจึงเลือกประเด็นที่มีความสำคัญที่ควรแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะนำไปแก้ทั้งฉบับอีกรอบ เรามีระยะเวลาช่วงนี้ ซึ่งต้องถามสื่อกลับว่าคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่ เพราะหลายคนวิเคราะห์ว่าจะเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป เช่น ปัญหาเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีก็จะมีการร้องเรียน ยกเรื่องจริยธรรมขึ้นมา จึงขอถามสื่อมวลชนว่าจะวัดอย่างไร ที่ต้องการให้เกิดมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ได้ยกเลิกเพิกถอนอะไร ทำให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น
เมื่อถามว่าได้เริ่มคุยกับ สว. เพื่อขอเสียงสนับสนุนแล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยกัน เพราะ สว.เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐสภา ที่ต้องเห็นชอบด้วย มิเช่นนั้นจะไปไม่ได้
ส่วนรายงานศึกษาแนวทางการทำกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะเสนอเข้าสู่สภา แต่จะนับ 1 ยกร่างฉบับนี้เมื่อใดนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่มติของที่ประชุมว่าอย่างไร จะส่งรัฐบาลหรือส่งให้พรรคการเมืองไปยกร่าง หากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองรับนำไปพิจารณาเห็นสมควรยกร่างอย่างไรหรือไม่
เมื่อถามถึงประเด็นละเอียดอ่อน เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขและทำให้ที่ประชุมหาข้อสรุปไม่ได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในรายงานไม่ได้ระบุว่าจะเอาหรือไม่เอาแต่เป็นการนำเสนอ ทั้งหมดเพื่อให้พิจารณาว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจ ตัวท้ายที่สุดก็ต้องไปยกร่าง และจะใส่อย่างไรก็เป็นเรื่องของผู้ที่ดำเนินการ ตนไม่มีอำนาจไป บังคับ รายงานมีหลายทางเลือกเพื่อนำไปพิจารณาแต่จะนำไปพิจารณาแบบไหนเป็นดุลพินิจ ไม่สามารถบังคับได้ และไม่มีอะไรไปบังคับรัฐบาลได้ว่าจะต้องออกกฎหมายเพราะเป็นคนละส่วนกัน รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอย่างไรเป็นดุลยพินิจของรัฐบาล อาจจะยังไม่เสนอก็ได้
เมื่อศึกษารายงานแล้วรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไรจะถือว่าการพิจารณาทำรายงานสูญเปล่าหรือไม่ นายชูศักดิ์ ยืนยันว่าไม่สูญเปล่า รัฐบาลอาจมีมติส่งให้พรรคการเมืองเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็ได้ สภาไม่มีอำนาจไปบังคับรัฐบาลได้ว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่ได้มีการหารือกันว่าจะเสนอร่างของพรรคเองหรือไม่ ซึ่งต้องสอบถามกันว่าเห็นอย่างไรต่อไป