ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ระวังแก้รัฐธรรมนูญ หักกระแสสังคม!
ต้องใช้เวลาสร้างฉันทามติ
การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ในประเด็นการตีกรอบจริยธรรม ประเด็นอำนาจองค์กรอิสระประเด็นยุบพรรคและประเด็นอื่นๆ นั้น
แม้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองและสส.ที่สามารถดำเนินการได้ก็ตาม แต่หากพิจารณาความชอบธรรมแล้ว ความชอบธรรมยังต่ำอยู่ เพราะอย่าลืมว่าประเด็นที่เสนอแก้ไขกันเป็นประเด็นที่มีความล่อแหลมสูง แม้จะได้ฉันทานุมัติในสภา แต่ถ้าปราศจากฉันทานุมัติจากนอกสภาหรือจากประชาชน ก็รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกโดยไม่จำเป็น
รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึงเดือนมีปัญหาให้แก้ไขมากมาย ยังไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ ควรเร่งสร้าง ความเชื่อมั่นความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่านี้ถึงจะพอมีโอกาส พรรคเพื่อไทยควรซึมซับบทเรียนอย่างน้อยสองเหตุการณ์ คือกรณีการขายหุ้นชินคอร์เปอเรชั่นและหลีกหนีการอภิปรายของสภาเมื่อปี 2549 และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยเมื่อปี 2556 ก็เป็นบทเรียนของเสียงข้างมากที่ขาดความชอบ
วิกฤติการเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไม่ควรโยนบาปให้รัฐธรรมนูญฝ่ายเดียว เพราะวิกฤติหลักยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมบรรดานักการเมืองบางส่วน ที่เล่นการเมืองเพื่อตัวเองเพื่อพวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่ลดลงเลย
ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวอย่างชัดเจนที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เข้ามาฉีกทิ้งความหวังของประชาชน จากนั้นมากระแสเกลียดชังนักการเมืองจำพวกนักเลือกตั้งก็สูงขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อปราบโกงและเอาคนดีเข้าสู่อำนาจจึงปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560
ฉะนั้นหากจะตีโต้หรือหักกับกระแสนี้ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดถ้านักการเมืองยังไม่ปรับพฤติกรรม
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรณีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกลงโทษด้วยกลไกรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก็เป็นปัญหาความผิดที่ก่อขึ้นจากตัวนักการเมืองด้วยส่วนหนึ่ง ยังนึกไม่ออกว่ามีกรณีไหนที่นักการเมืองตกเป็นเหยื่อ เป็นแพะหรือถูกรังแกจากกลไกรัฐธรรมนูญแต่เพียงด้านเดียว
แม้จะวางเงื่อนไขว่าจะไม่มีผลย้อนหลังกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้หลักประกันกับประชาชนว่าพฤติกรรมนักการเมืองจะปรับปฏิรูปตัวเองมากขึ้น