xs
xsm
sm
md
lg

"หริรักษ์"ชี้การแก้ไข รธน.ควรทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมือง-นักการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า การแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เราไม่อาจยอมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง และนักการเมืองใดๆ

เราเริ่มได้เห็นอานุภาพของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเสนอแต่งตั้งบุคคลที่เคยถูกจำคุกตามคำสั่งศาล และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นผู้ที่จัดการให้มีการนำถุงขนมที่บรรจุเงิน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาล อ้างว่าหยิบถุงผิดใบ แต่กลับได้รับรางวัลให้เป็นรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล มีความระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกสรรผู้ที่จะให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เรามีความหวังว่า ในระยะยาวระบอบประชาธิปไตยของเราน่าจะมีความก้าวหน้าขึ้น และนักการเมืองเลวๆที่มุ่งแสวงหาอำนาจ เพื่อโกงกินชาติ น่าจะค่อยๆน้อยลง พรรคการเมืองที่เคยต้องทุ่มเงินกันอย่างมหาศาลเพื่อเอาชนะเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จากนั้นก็จะหาเงินจากการทุจริตคอรัปชั่น นำมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปน่าจะมีน้อยลง

ข้างต้นคือวงจรอุบาททางการเมืองที่แท้จริงที่ดูจะไม่มีใครทำลายได้ การทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจก็ไม่สามารถทำลายได้ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เราเริ่มมีความหวัง แม้เพียงรำไรแต่ก็นับว่ายังมีความหวัง

ในขณะที่เราเริ่มมีความหวัง พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาล คือพรรคเพื่อไทยก็ประกาศแบบไม่สนใจความรู้สึกของใครทั้งสิ้น ว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราอย่างเร่งด่วน เช่น

ที่กำหนดในมาตรา 160 ว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ จะแก้เป็น

" ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต "

แปลว่า ไม่ต้องมึความซื้อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ก็ได้ ขอเพียงไม่ประจักษ์ชัดว่าไม่ซื่อสัตว์สุจริต ก็ใช้ได้แล้ว

ที่ว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็เปลี่ยนเป็น ต้องเป็นผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเท่านั้น ถ้าไม่ได้กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลก็ไม่ขาดคุณสมบัติ

นอกจากนั้นยังจะแก้ไขอีกหลายมาตรา ที่น่าเกลียดที่สุดคือ มาตรา 256 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ (8) ที่กำหนดว่า การแก้ไขหมวด 1 คือบททั่วไป และหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และหมวด 15 ซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ เหล่านี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขมาตรา 256 (8) พวกเขาจะแก้ไขเป็นว่า ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 และหมวด 2 และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติม หน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระ ไม่ต้องมีการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการแก้ไขมาตรา 211 เกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกภาพของ ส.ส. สว. และการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง จากการใช้เสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นการใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คูณเศรษฐา ทวีสินก็จะไม่ต้องพ้นจากแหน่งนายกรัฐมนตรี

นั่นหมายความว่า พวกเขาตั้งใจจะลดบทบาทหน้าที่ และอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ โดยไม่ต้องมีการออกเสียงประชามติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องออกเสียงประชามติ จึงน่าจะเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านประชามติ

ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับการเลือกสรรผู้ที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีลง ซึ่งไม่ควรจะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ และต่อประชาชน จะทำให้ความหวังว่า ประเทศเรามีโอกาสมากขึ้นที่จะได้คนเก่งคนดีมาเป็นรัฐมนตรี ต้องพังทลายลง แล้วใครเล่าจะได้ประโยชน์นอกจากพรรคการเมือง และนักการเมืองกันเอง

ข้ออ้างของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็คือ เรื่องความซื่อสัตย์และเรื่องจริยธรรม เป็นเรื่องที่ตัดสินยาก ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน และการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ควรจะเป็นการตัดสินของคนเพียงไม่กี่คน แต่ควรเป็นการตัดสินของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามา บอกได้เลยว่า สภาผู้แทนราษฎรตามที่เป็นอยู่ในเวลานี้และตลอดมา อาศัยเสียงข้างมากลากไป ไม่ได้โหวตโดยยึดหลักความถูกต้อง แต่ยึดหลักเพียงว่าต้องโหวตให้พวกเดียวกันไว้ก่อน ถูกผิดไม่เป็นไร โดยเรียกมันว่า "เป็นมารยาททางการเมือง" แล้วเราจะหวังอะไรได้จากสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พรรคเพื่อไทยจึงยังไม่กล้ายื่นต่อรัฐสภา แต่จะนัดหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเสียก่อน สังเกตว่าพรรคเพื่อไทยไม่หารือกับฝ่ายค้าน ซึ่งก็คงเป็นเพราะฝ่ายค้านจะไม่ค้าน เพราะเป็นการสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ก็ต้องรอดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะว่าอย่างไร หากพรรคร่วมรัฐบาลเออออด้วยไปกับพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะหมดหวังแล้วกับระบอบประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ และก็สมควรแล้วที่หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะถูกยุบ จากการที่ไปร่วมประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

อย่าได้มาอ้างด้วยว่า ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อไม่ให้มีการถูกร้องจนไม่เป็นอันได้ทำอะไร จนทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขอบอกว่า หากจะเดินหน้าต่อไปสู่หายนะ ก็สู้ไม่ต้องเดินหน้าเสียเลยจะดีกว่า

ท้ายที่สุด อยากบอกประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดีนนี้ ที่ยังยึดหลักความถูกต้องและเป็นธรรมว่า

เราต้องไม่ยอมมัน !!!!!!!!