xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย”โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงขุนคลังเรื่องเงินแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องเงินแผ่นดิน

ด่วนที่สุด

วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อ้างถึง ข่าวกรุงเทพธุรกิจลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ เกี่ยวกับ กบข.

ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗ แจ้งว่ากิจกรรมเกี่ยวกับกองทุนวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) อาจอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนเพิ่มเติม ดังนี้

๑. แถลงข่าวของ กบข.

เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๗ กบข.ได้เผยแพร่คำชี้แจงในเว็บไซต์ของรัฐบาลว่า กบข. ได้มีการลงทุนในกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ในปัจจุบัน กบข. มีการลงทุนในเม็ดเงินที่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาท โดยปรากฏในข่าวกรุงเทพธุรกิจที่อ้างถึง กบข. ได้แสดงเจตจำนงที่จะไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ข. ดังกล่าวทั้งหมดตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ

แต่คำชี้แจงในเว็บไซต์ของรัฐบาล กลับไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับการไถ่ถอนดังกล่าว

นอกจากนี้ ข่าวกรุงเทพธุรกิจยังระบุด้วยว่าผู้ถือหน่วยลงทุนหลักของกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. คือกระทรวงการคลัง รวมทั้ง กบข. ไม่มีนโยบายลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนฯ ชนิดผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.

๒. ความถูกต้องครบถ้วนของหนังสือชี้ชวน

การที่ กบข. ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตัดสินใจไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมด ก็มีผลมิให้กำไรสะสมในส่วนที่เป็นของ กบข. ตกไปเป็นของกลางให้ถูกเบียดเบียน

ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่เป็นภาครัฐนั้น มีความเสี่ยงปฏิบัติให้ถูกกฏหมายในการลงทุนดังกล่าว และถ้าหากมีความจำเป็น ก็จะต้องไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่มีอยู่ออกไป

ซึ่งเมื่อปราศจากกำไรสะสมและเงินลงทุนที่มีอยู่ขณะนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ประเด็นเรื่องความมั่นคงแน่นอนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำและการคุ้มครองเงินต้นที่ลงทุนก็ย่อมจะลดลง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลังเชื้อเชิญให้ประชาชนจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยหนังสือชี้ชวนมิได้แถลงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้จองซื้อ จากกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป หรือจะไม่สามารถยินยอมให้ใช้กำไรสะสมและเงินลงทุนที่มีอยู่ขณะนี้ของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ นั้น

เข้าข่ายเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงสำคัญที่ไม่ครบถ้วน

๓. กระทรวงการคลังชอบที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกับ กบข.

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ากระทรวงการคลังชอบที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกับ กบข. ด้วยเหตุผลดังนี้

(๑) กำไรสะสม ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาทถือเป็นเงินของประชาชน ซึ่งกรณีที่กระทรวงการคลังไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป จะทำให้เงินดังกล่าวตกเป็นรายได้ของกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา ๓๑

ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปพัฒนาประเทศเพื่อประชาชนทั้งปวง อาทิเช่น สร้างโรงพยาบาล ดูแลผู้สูงวัยและผูัป่วย เป็นต้น แต่กระทรวงการคลังกลับเอาไปใช้รองรับการอุดหนุนให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นประชาชนเพียงส่วนน้อย จึงไม่เป็นธรรมในสังคม

(๒) การค้ำประกันผู้ลงทุนในปี ๒๕๔๖ นั้น เป็นการระดมทุนเพื่อประโยชน์ในการลงทุนภาครัฐ แต่การระดมทุนครั้งนี้ในปี ๒๕๖๗ เป็นการระดมทุนมิใช่เพื่อประโยชน์ในการลงทุนภาครัฐ จึงไม่มีเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะต้องไปอุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยไม่ได้ประโยชน์ตอบแทน

๔. กำไรสะสมของกระทรวงการคลังเป็นเงินแผ่นดิน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ - ๔/ ๒๕๕๗ คดีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอร่างพระราชบัญญัติจะกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อใช้นอกระบบงบประมาณ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หน้า ๓๗ ระบุว่า

"เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบคำชี้แจงของพยานแล้ว เห็นว่า คำว่า "เงินแผ่นดิน" ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ที่บัญญัติคำนิยามของคำว่า "ตรวจสอบ" หมายความว่า "การตรวจบัญชี ตรวจการรับ การใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจที่ได้มาจากเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค และเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยรับตรวจ

ทั้งนี้ ไม่ว่าเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นของหน่วยรับตรวจหรือหน่วยรับตรวจมีอำนาจหรือสิทธิในการใช้จ่ายหรือใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารการเงินของรัฐและเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และให้หมายความรวมถึงการตรวจสอบอื่นอันจำเป็นแก่การตรวจสอบดังกล่าวด้วย"

ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเงิน การคลัง และงบประมาณ ทั้ง ๔ ปาก ได้แก่ นางสาวประพีร์ อังกินันทน์ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว

เห็นว่า เงินแผ่นดิน ย่อมหมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติ โดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้น ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีภาระต้องชำระคืนทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ยจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี"

จึงสรุปได้จากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า "เงินแผ่นดิน" หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติโดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ

ดังนั้น กำไรสะสมในกองทุนฯ จำนวน ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นสิทธิและผลประโยชน์ที่รัฐเป็นเจ้าของนั้น จึงเป็นเงินแผ่นดิน

๕. ประเด็นที่ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน

เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีรวม ๔ ฉบับ จึงเห็นว่าท่านมีหน้าที่ต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ในการที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้ผู้จัดการกองทุนฯ นำเอาเงินแผ่นดินดังกล่าวไปใช้อุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นั้น ท่านได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๐ แล้วหรือไม่

และเนื่องจากคำวินิจฉัยนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ท่านจึงควรตรวจสอบเหตุผลที่ สคร. ละเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นหรือไม่

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานและขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง