ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อดีตหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ประเทศไทย (ใหม่): ฐานข้อมูลบุคคลกับการรับมือภัยพิบัติ
เขียนตั้งแต่ พฤศจิกายน 2554 ในหนังสือพิมพ์
ปีนี้ 2567!!!!!
ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
วิกฤติน้ำทำให้เราชินกับคำเตือนให้เฝ้าระวัง เตรียมย้ายของขึ้น เตรียมอพยพใน 2 ชั่วโมง การพยากรณ์น้ำจะท่วมเขตใดไม่ใช่ปัญหา (ปี 2567 ยังทำไม่ได้ แสดงว่าฉิบหายกว่าเดิม)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คืออพยพออกมาได้หมดหรือไม่ มีคนเหลือติดอยู่เท่าไหร่ ทั้งที่สมัครใจไม่ออกและที่พิการออกไม่ได้ มีสัตว์เลี้ยงติดอยู่เป็นจำนวนมากเพียงใด ในบรรดาคนที่อพยพออกมา เช่นเดียวกับคนที่ติดอยู่ มีโรคประจำตัวอยู่แล้วซึ่งต้องการการรักษาต่อเนื่อง และโรคจะกำเริบถ้าขาดยาภายในเป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ และส่งผลไปถึงถุงยังชีพซึ่งดูจะไม่มีปัญหาสำหรับผู้ใหญ่แข็งแรง
แต่สำหรับประชากร “พิเศษ” ได้แก่ เด็กตั้งแต่ทารกกับเด็กโต และ “ผู้ป่วย” ซึ่งมีทั้งในระดับช่วยตัวเองได้ และกึ่งต้องการความช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว และใช้ชีวิตประจำวัน และที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย
ในกลุ่ม “พิเศษ” เหล่านี้ถุงยังชีพจำเป็นต้องมีส่วนประกอบต่างจากถุงธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น นมผง และสิ่งจำเป็นอื่นๆสำหรับเด็ก แต่นมผงใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสำเร็จรูปเพราะ ไฟฟ้าไม่มี
ในกลุ่มผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบจำนวน ชนิดของโรคล่วงหน้า ทั้งนี้ต้องมีการตระเตรียมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ และเครื่องมือในการตรวจหาข้อมูลทางชีวภาพในเลือดอย่างง่ายๆ ที่ศูนย์พักพิง เช่น การตรวจหาน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานตรวจการทำงานของไต ตับ เกลือแร่ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลได้ในเวลาเป็นนาทีเท่านั้น
เหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องทราบในกรณีที่คนไข้อาจจะเริ่มมีอาการฉุกเฉิน โดยเฉพาะในคนที่ต้องล้างไตผ่านทางเส้นเลือดเป็นประจำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และจะวุ่นวายมากขึ้นถ้าล้างผ่านช่องท้อง
นอกจากนั้นต้องเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปให้การรักษาคนที่ติดอยู่ข้างใน
ปัญหาเหล่านี้อยู่ที่จะทำอย่างไรถึงจะทราบว่า ณ พื้นที่หนึ่งๆที่ประสบภัย มีประชากรจริงๆ หมายถึงที่อยู่จริงขณะนี้ กี่คน เพศ อายุ ข้อมูลส่วนตัว การเจ็บป่วย เพื่อทำให้วางแผนได้จริงล่วงหน้าว่าจะต้องตระเตรียมอุปกรณ์ยังชีพ และ “ช่วยชีวิต” เท่าใด ในกลุ่มพิเศษที่กล่าวแล้ว
ข้อมูลที่ปรากฏในสำมะโนครัว หรือทะเบียนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่เอื้ออำนวยหรือมีประโยชน์ในสภาพปัจจุบัน ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ที่ทำงาน ซึ่งข้อมูลดั้งเดิมเหล่านี้ใช้ในการตรวจหารายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และแม้แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่ใช้กรอกที่อยู่ในแฟ้มประวัติคนไข้ เวลาเจ็บป่วย หรือเข้าโรงพยาบาลโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่อยู่จริง
การได้ข้อมูลของประชากร (demographic data) รวมสภาวะทางสุขภาพ ประวัติการได้รับวัคซีนของประชากรตั้งแต่เกิดจนโต และรายละเอียดอย่างย่อของการเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาลด้วยโรคอะไร ยากินมีอะไรบ้าง โดยที่มีการใช้ยาชนิดใด ซึ่งต้องเป็นข้อมูลต่อเนื่อง และมีการพัฒนาให้อยู่ใกล้สภาพปัจจุบันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หมายความว่าทุกครั้งต่อไปนี้ ที่แต่ละคนเข้าสถานพยาบาลด้วยโรคใดก็ตามได้ยา วัคซีน มีความจำเป็นต้องบรรจุข้อมูลจากสถานพยาบาล โรงพยาบาลนั้นๆ
ลักษณะของสมาร์ท การ์ด (smart card) ที่สมัยหนึ่งเคยคิดจะทำน่าจะเป็นวิธีหนึ่ง และโดยที่การ์ดนั้นๆจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่สามารถติดตามตัวได้ตลอดด้วยอีกทั้งเป็นประวัติส่วนตัว โดยไม่ต้องถามใหม่ หรือถามเพิ่มไม่มากเพื่อยืนยันความถูกต้อง
ผู้เขียนเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกินความสามารถของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนคเทค กระทรวง ICT และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการออกแบบ และใช้ดาวเทียมหรือสถานีในการติดตามสัญญาณของประชากร (2567 เข้าใจผิด ไม่ทำ ไม่สนใจ เอาแต่งบ และเกินความสามารถ ฉิบหายมากกว่าที่คิดองค์กร สถาบัน)
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ในการบรรจุข้อมูลจากโรงพยาบาล หรืออำเภอ เขต อย่างเดียว (2567 เข้าใจผิด ยังทำอะไรไม่ได้เลย)
แต่อยู่ที่สิทธิ์ส่วนตัวของประชาชนด้วย ว่าจะให้ใครรู้ ใครเห็นว่าขณะนี้ระหกระเห เร่รอนไปยังที่ใด โดยไม่บอกให้ที่บ้านรู้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่น่าเป็นปัญหา เนื่องจากจะมีการใช้ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์จำเป็น เช่น ภาวะวิกฤติ ในการวางแผนอพยพ เหมือนกับสัญญาณติดตามรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เวลาหาย
เทคโนโลยีที่ทำได้เลย และที่ทำไปแล้วในวิกฤติน้ำท่วมนี้คือการรายงานนาทีต่อนาที ว่าน้ำท่วม น้ำแห้ง น้ำรุกล้ำมาถึงที่ใด ขนาดไหน ซึ่งปรากฏในเว็บหลายแห่ง และรวมถึงการพยากรณ์ว่าบ้านจะท่วมไหมจากการประยุกต์รวมความสูงของพื้นที่ การรุกล้ำ ไหลเข้าของน้ำ น้ำทุ่ง น้ำหลาก เป็นไปตามสถานการณ์จริง (real time) โดยการใช้มือถือ คอมพิวเตอร์ แจ้งมายังศูนย์ข้อมูล (2567 ชิบหายกว่าเดิม เพราะทำอะไรไม่ได้เลย)
นอกจากนั้น ถ้าเกิดเรื่องร้ายเกิดโรคระบาด โดยระบุกลุ่มอาการของโรค เช่น ทางเดินหายใจ ทางสมอง ทางระบบทางเดินอาหาร ในกรณีเช่นนี้จะสามารถบอกกระจุก (cluster) ของผู้ป่วยที่เกิดเป็นกลุ่ม และบอกทิศทางการแพร่และความรวดเร็วในการกระจาย ข้อมูลที่ได้เหล่านี้สามารถนำไปวางแผนสกัดกั้น โดยสามารถกระจายข่าวให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อำเภอ จังหวัดนั้นๆ เตรียมตัวด้วยมาตรการที่เหมาะสมสำหรับโรคระบาดนั้นๆ และสามารถเตือนให้โรงพยาบาลในพื้นที่รับมือได้ โดยที่แต่ละโรงพยาบาลทราบจำนวนบุคลากร เตียง และขีดความสามารถของตนเองอยู่แล้ว และเมื่อเริ่มเรียนรู้อัตราการแพร่กระจาย การระบาดของโรค อัตราของผู้ป่วยหนักถึงระดับต้องเข้าโรงพยาบาลว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ เมื่อนำมาเทียบกับข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ โดยที่ข้อมูลการระบาดเบื้องตันอาจเริ่มพยากรณ์ได้ว่า โรคจะเจาะจงหรือเกิดกับประชากรกลุ่มใดเป็นพิเศษ เพศ อายุ เช่นชอบเป็นในคนแก่มากกว่าในเด็ก หรืออาจเป็นโรคที่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน โดยในพื้นที่นั้นๆมีคนฉีดวัคซีนไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงจะประเมินสภาพภัยพิบัติได้แม่นยำ รวมทั้งต้องเตรียมอุปกรณ์พิเศษ บุคลากร เครื่องช่วยหายใจ ICU เพื่อรองรับได้กี่คน และบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการสำรองกำลังเพียงใด โดยที่บุคลากรนั้นๆบางรายซึ่งมีความเสี่ยงก็อาจมาดูแลคนไข้ไม่ได้พร้อมกับหาทางหนีทีไล่ ถ้าโรงพยาบาลเต็มจะส่งต่อไปที่ไหน
น้ำท่วมครั้งนี้ (2554) เป็นโอกาสให้เราได้รับรู้ศักยภาพของคนไทยซึ่งสามารถประยุกต์แผนที่ Google Earth และอื่นๆอีกมากมาย และการติดต่อผ่าน Twitter Facebook SMS Email เพื่อรายงานสถานการณ์ เป็นนักข่าวอาสา ความสามารถและหัวคิดดังกล่าวไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉินน้ำท่วมครั้งนี้ครั้งเดียว ต้องพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพื่อเตรียมการในอนาคตสำหรับน้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด ใช้ข้อมูล พื้นที่ภูมิประเทศ ภาวะน้ำ ฝน ความชื้น ข้อมูลของแมลง ยุง เห็บ ไร ริ้น และข้อมูลความหนาแน่นของสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่
ผู้เขียนหวังว่าจะเห็นปี 2012 เป็นนิวไทยแลนด์ หรือประเทศไทยใหม่ โดยเตรียมพร้อมอย่างเต็มศักยภาพ และทิศทางการการวิจัยต่อจากนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในลักษณะบูรณการอย่างเต็มที่
(สรุปว่า 2567 นี้ ประเทศไทยไม่ได้มีความก้าวหน้าใดๆ และถอยหลังกว่าเมื่อปี 2554 ด้วยซ้ำ และถลุงงบ ของประเทศไปอย่างเมามัน โดยผลงานปรากฏชัดเจนในปี 2567 นี้ว่าเลวร้ายสูงสุด)