xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา”ยันแม้น้ำสิงห์มี TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้เป็นอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "ค่า TDS ไม่ใช่ค่า "น้ำกระด้าง" นะครับ และที่น้ำสิงห์มี TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานครับ ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร"

เจอบทความนี้ของเพจเกี่ยวกับชีวิตคนญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นเรื่องดีๆ ของเด็กญี่ปุ่นแต่เนื้อหาและการแปล อาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ "ค่า TDS ของน้ำดื่ม" โดยเฉพาะกับยี่ห้อ น้ำสิงห์ ได้นะครับ .. เลยขอเอามาเขียนอธิบายหน่อย

คือในบทความนั้น พูดถึง งานวิจัยของเด็กญี่ปุ่น (น่าจะเป็นงานวิจัยฤดูร้อน ซึ่งเป็นการบ้านที่เด็กญี่ปุ่นถูกกำหนดให้ทำกันทุกปี) ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เลยเอาน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อต่างๆ ที่ขายในไทย มาวัดค่า TDS (คอลัมน์ที่มีหน่วยเป็น ppm) ที่อุณหภูมิห้อง พร้อมข้อมูลปริมาตรของน้ำในขวด (ml) และราคา (บาท) (ส่วนคอลัมน์สุดท้าย น่าจะแปลว่า "ค่าอ้างอิง" แต่ไม่ใจว่าหมายถึงอะไรแน่)

ซึ่งผลที่ออกมาก็พบว่า น้ำดื่มสิงห์มีค่า TDS สูงที่สุดคือ 305 ppm รองลงมาคือ น้ำแร่มิเนเร่ 261 ppm และยี่ห้ออื่นๆ ถัดลงมาเรื่อยๆ จนถึงน้ำดื่มจิฟฟี่ 2 ppm / แถมด้วยเครื่องดื่มอื่น คือ น้ำชาข้าวบาร์เล่ย์ ยี่ห้อ อิโตเอ็น 314 ppm โค้ก 414 ppm และน้ำประปาจากก๊อก 88-91 ppm

ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้คือ ทางเพจได้บอกว่า ค่า TDS สูง นั้นบอกความเป็นน้ำกระด้าง และตารางนี้จึงเป็นการเรียงลำดับจากน้ำกระด้างมากไปน้อย พวกน้ำลำดับบนๆ ที่กระด้างเยอะคือ TDS เยอะ ฯลฯ !? ... ทำเอาหลายคนคอมเม้นต์ถามว่า อย่างนี้น้ำดื่มสิงห์ก็เป็นน้ำกระด้างมากซิ แล้วดีหรือไม่ดีต่อการบริโภค ?

ซึ่งไม่ใช่นะครับ ค่า TDS คือ ค่าปริมาณของ ของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ (หรือ Total Dissolved Solid) ครับ ซึ่งเป็นคนละค่ากับค่า "น้ำกระด้าง water hardness" ครับ .... และน้ำดื่มสิงห์ ที่มีค่า TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มบรรจุขวด (คือ ไม่เกิน 500 ppm) ครับ สามารถบริโภคได้ทั่วไป

- เวลาใช้คำว่า "น้ำกระด้าง (water hardness)" นั้น จะหมายความว่า น้ำมีแร่ธาตุหลังจากการซึมผ่านตะกอนของหินปูนหรือยิปซั่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารประกอบระหว่างแคลเซียมและแมกนีเซียม กับคาร์บอเนต , ไบคาร์บอเนต และซัลเฟต

- เราสามารถวัดความเข้มข้นรวมของไอออนแคลเซี่ยม (Ca2+) และไอออนแมกนีเซียม (Mg2+) ในน้ำนั้น ด้วยเครื่องมือจำเพาะ ออกมาเป็น "ค่าความกระด้างทั้งหมด (total hardness)" ... ซึ่งตามมาตรฐานน้ำดื่ม ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ตามประกาศ ก. สาธารณสุข นั้น กำหนดให้มีค่าความเข้มข้น (คำนวณจากแคลเซี่ยมคาร์บอเนต) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร (ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคนละค่ากับที่ปรากฏในงานวิจัยดังกล่าว)

- ส่วนข้อมูลงานวิจัยของเด็กญี่ปุ่นที่เผยแพร่กันนั้น เป็นค่าที่วัดมาจากเครื่อง TDS meter ที่ใช้วัดค่า "ของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ" หรือ Total Dissolved Solid (TDS) ซึ่งในอดีต ก็มีหลายคนเคยเอามาลองวัดค่าน้ำดื่ม แล้วเอามาตีความผิดๆ เช่น อ้างว่าเป็น "ปริมาณของตะกอนสิ่งสกปรกในน้ำ" เอาไปโจมตีบริษัทน้ำดื่ม จนเป็นคดีฟ้องร้องกันมาแล้ว

- ค่า TDS นั้นจะวัดปริมาณรวมของของแข็ง ทั้งสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ทั้งหมด ที่ละลายอยู่ในของเหลว ซึ่งมีทั้งแร่ธาตุ เกลือ โลหะ ไอออนที่ละลายในน้ำ สาหร่าย เศษพืช ฯลฯ

- ซึ่งตามมาตรฐานน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น กำหนดให้ค่า TDS อยู่ที่ไม่เกิน 500 ppm (parts per million หรือหนึ่งส่วนในล้านส่วน ซึ่งก็เท่ากับหน่วย มิลลิกรัม/ลิตร) ... ดังนั้น ที่ในรูป งานวิจัยวัดค่าออกมาได้ 305 ppm จึงนับว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้จะเป็นอันตรายต่อการบริโภค รวมทั้งไม่ใช่ค่าที่บอกความเป็น "น้ำกระด้าง สูง" อีกด้วย

- การที่น้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่ และน้ำดื่มบรรจุขวดอีกหลายๆ ยี่ห้อ มีค่า TDS สูงกว่าอีกหลายยี่ห้อนั้น เป็นผลจากวิธีการผลิตน้ำบริสุทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยน้ำดื่มกลุ่มนี้จะใช้วิธีการผลิตน้ำ ผ่านการนำน้ำจากธรรมชาติ (น้ำบาดาลในแหล่งน้ำใต้ดินของบริษัท) มาผ่านการกรองด้วยเส้นใยกรองอย่างละเอียด ที่เรียกว่า ultrafiltration ทำให้ได้น้ำที่ยังคงมีแร่ธาตุต่างๆ อยู่มาก แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด

- ขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งมีค่า TDS ต่ำมากๆ นั้น จะใช้วิธีการผลิตด้วยการระบบ อาร์โอ (RO) ผ่านเครื่องกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับผ่านเยื่อกรอง (reverse osmosis) ทำให้แร่ธาตุและของแข็งทุกอย่างในน้ำ ถูกกรองออกไปหมดจากน้ำ และค่า TDS ก็จะน้อยมาก จนใกล้ศูนย์

- ดังนั้น โดยสรุป ค่า TDS ของน้ำดื่มนั้น มีกฏเกณฑ์มาตรฐานเพียงแค่ไม่เกิน 500 ppm ... ถ้ายี่ห้อไหนมีค่าสูง แต่ไม่เกินเกณฑ์นี้ ก็สามารถนำมาบริโภคได้ตามปรกติครับ แต่จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำ ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับน้ำดื่มที่ผ่านระบบ RO จนไม่เหลือแร่ธาตุอะไรอี

ป.ล. เรื่องการนำเอาเครื่อง TDS meter ไปวัด แล้วนำไปกล่าวหาบริษัทน้ำดื่มกันผิดๆ เช่น อ้างว่ามีค่า TDS สูง เป็นอันตราย ห้ามกินได้ ฯลฯ แล้วนั้น ยังมีการนำไปใช้หลอกขายเครื่องกรองน้ำกันด้วย (เช่น อ้างว่ากรองด้วยเครื่องของเขาแล้วจะได้ค่า TDS น้อยกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด แสดงว่าเครื่องเค้ากรองได้สะอาดปลอดภัยกว่า ) ขอให้ระวังกันด้วยนะครับ