แพทย์หญิงดารินดา รอซะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า แมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) มีพิษร้ายแรง โดยมีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรียาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษสำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด พิษของแมงกะพรุนหัวขวดมีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่คนที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้บริโภคนำมาราดต่อเนื่อง 30 วินาที บริเวณที่ถูกพิษ ป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรืออื่น ๆ ราดแทน เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ห้ามขูด - ถู หรือนำวัสดุไปขยี้หรือทา บริเวณที่ได้รับพิษ เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยโรงพยาบาลทันที การป้องกันตัวจากแมงกะพรุนพิษ คือ ก่อนลงเล่นน้ำทะเล ให้สังเกตที่บริเวณชายหาด หากพบว่ามีซากของแมงกะพรุนที่อยู่ตามชายหาด ควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ และให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด สวมเสื้อผ้ามิดชิด ลงเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น