xs
xsm
sm
md
lg

"ธีระชัย"โพสต์ จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ กรณีกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจฝ่าฝืนกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์ (ฉบับที่ ๒)

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย (ฉบับที่ ๒)

เรียน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

อ้างถึง หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๓/๑๘๖ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗

ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗ กรณีกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย จึงได้ให้ข้อมูลมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของท่าน นั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ ดังนี้

๑. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๓/๑๘๖ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗ แจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า

“กรณีที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่อง การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป ความละเอียดทราบแล้ว นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไปเพื่อเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกการคุ้มครองผลตอบแทน อันจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน และอาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนได้ตามที่กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณารับทราบได้ตามที่เห็นควร”

๒. ปัญหาอยู่ที่เงื่อนไข

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าขบวนการออกแบบโครงการลงทุนที่มีผู้ถือหน่วยสองประเภท โดยผู้ถือหน่วยประเภทที่ยอมรับความเสี่ยงสูง (equity tranch) ยินยอมรอนสิทธิของตนเองให้แก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ (highly rated tranch) นั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ในเชิงธุรกิจ ถ้าให้ผลตอบแทนสูงขึ้นแก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่หนึ่งอย่างเป็นธรรม

แต่เงื่อนไขที่ปรากฏข่าวในสำนักข่าวมติชน หนังสือชี้ชวนระบุว่า

ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี ตลอดระยะเวลาการลงทุน ๑๐ ปีแรก

และผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะถูกคำนวณจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อาจไม่ได้รับเงินปันผลหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เงื่อนไขนี้จึงเป็นการคุ้มครองผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) โดยรอนสิทธิออกจากผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ซึ่งถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการจูงใจแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) แต่ก็มีผลเป็นการลดผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ซึ่งในกรณีผู้ถือหน่วยที่เป็นกระทรวงการคลังย่อมกระทบไปถึงประชาชนทุกคนในประเทศ และในกรณีผู้ถือหน่วยหากเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นผู้ถือหน่วยอยู่แล้วขณะนี้ ย่อมกระทบไปถึงสมาชิกและผู้รับประโยชน์

การเพิ่มการคุ้มครองผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) นั้น ถ้าเป็นไปตามครรลองธุรกิจตลาดทุนปกติ ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผลตอบแทนอย่างอื่นชดเชยแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ให้เป็นธรรม

หรือถ้าหากรัฐบาลเห็นเป็นเรื่องจำเป็นแก่ประเทศชาติที่จะต้องแจกเงินให้แก่นักลงทุนเกินกว่ารายได้จริง รวมทั้งประกันเงินต้นไม่มีความเสี่ยงทั้งที่เป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ชอบที่จะทำได้โดยตั้งงบประมาณเอาเงินไปอุดหนุนโดยผ่านกระบวนการพิจารณาปกติในรัฐสภา ไม่ควรจุนเจือหยิบฉวยเอาจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ผ่านรัฐสภา

นอกจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะถูกรอนสิทธิในการได้รับผลตอบแทนแล้ว ข่าวมติชนระบุหนังสือชี้ชวนยังกำหนดอีกว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง

โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ซึ่งมีผลโดยอัตโนมัติเป็นการประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป)

เหตุผลเนื่องจากกองทุนฯ มีทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) อยู่ขณะนี้มากถึง ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

ดังนั้น การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะลงทุนในวงเงิน ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ว่าจะขาดทุนมีมูลค่าลดลงเพียงใด ก็สามารถที่จะเบียดเอาส่วนชดเชยจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทของผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้ทั้งสิ้น

๓. การฝ่าฝืนกฎหมาย

ข้าพเจ้าขอเรียนยืนยันว่าถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะยืนยันว่าโครงการนี้สามารถทำได้และคณะรัฐมนตรีสามารถรับทราบได้

แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะมิได้รับข้อมูลว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการรอนสิทธิของกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ และเท่าที่ข้าพเจ้าตรวจสอบข้อมูล ก็ไม่พบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอเงื่อนไขที่มีผลดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

ข้าพเจ้าขอเรียนเพิ่มเติมว่า ถึงแม้การจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะจำกัดเฉพาะคนไทย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่คนต่างชาติจะใช้คนไทยเป็นนอมินี หรืออาจจะซื้อหน่วยลงทุนในตลาดรอง รวมทั้งคนต่างชาติอาจจะเข้ามาลงทุนรับประโยชน์โดยเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลจดทะเบียนในไทย

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง