xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวรงค์”ยื่นหนังสือร้อง กกต.กรณี”ทักษิณ”ครอบงำเพื่อไทย-พรรคยินยอมการครอบงำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คำร้อง กกต.เรื่องทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทยฉบับเต็ม

11 กันยายน พ.ศ. 2567

เรื่อง การกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

เรียน ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง
สิ่งที่ส่งมาด้วย บัญชีรายการข่าวและข่าวที่เกี่ยวข้องที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน 9 หัวข้อ

ด้วยปรากฏว่ามีบุคคลและพรรคการเมืองกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ 2560 ข้าพเจ้านายวรงค์ เดชกิจวิกรม

ประสงค์ร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ดังข้อเท็จจริงที่จะกราบเรียน ดังต่อไปนี้

1. กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและก็เป็นบุคคลที่ไม่อาจสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็นสมาชิก เพราะเป็นบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริต รวม 4 คดี ต้องโทษจำคุกรวม 8 ปี และยังไม่ได้พ้นโทษหรือหากพ้นโทษแล้วก็ยังพ้นโทษมาไม่ถึงสิบปี ณ ปี 2561 และถึงปัจจุบัน ตามที่บัญญัติในข้อ12 (9)ของข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 โดยมีพฤติการณ์และการกระทำอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตั้งแต่ปี 2560 หลายกรรมหลายวาระต่างกัน โดยพฤติการณ์และการกระทำที่ข้าพเจ้าประสงค์จะร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามกฎหมายกับนายทักษิณ ชินวัตรในครั้งนี้ คือพฤติการณ์การกระทำ ดังต่อไปนี้

(1.1) ในเย็นวันที่ 14 สิงหาคม 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสินสิ้นสุดลง นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกนายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในบัญชีเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่สามของพรรคเพื่อไทย แกนนำของพรรคเพื่อไทยบางคน และหัวหน้าและผู้บริหารพรรคร่วมรัฐบาลไปที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อหารือในการเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน โดยพฤติกรรมการกระทำจากการที่ปรากฎหลักฐานว่านายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหรือเลขาธิการพรรคที่ปรากฏตัวเดินทางไปที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนและภาพคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อโซเชียลมีเดีย ตามบัญชีที่แนบมาพร้อมนี้

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ปรากฏข่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริให้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน แม้ต่อมาในวันรุ่งขึ้น 15 สิงหาคม 2567 ปรากฏข่าวว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้แทนราษฎรบางส่วนเห็นว่า นายชัยเกษม นิติศิริ อาจมีปัญหาด้านสุขภาพ จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่านายชัยเกษม นิติสิริ เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคเพื่อไทย และไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพแล้ว ซึ่งก็เป็นพฤติการณ์ที่ยืนยันได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ ให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่นายทักษิณ ชินวัตรได้เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทยหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหารือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งก็ปรากฏเป็นรายงานข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย หลายสำนักในทิศทางเดียวกันโดยไม่มีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ไปประชุมกับนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตรออกมาปฏิเสธแม้แต่คนเดียว ว่ารายงานข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกหรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้กระทำและมีพฤติการณ์ควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ประดุจเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แม้ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทย ยืนยันเสนอชื่อนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้ได้รับการคัดเลือกเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนาย ชัยเกษม นิติสิริและที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบเสนอชื่อ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างการกระทำและพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตรที่เป็นความผิดสำเร็จแล้วได้

(1.2)ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทยที่ตึกชินวัตร 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ปรากฏข่าวตามรายงานของสื่อมวลชนหลายสำนักโดยนายทักษิณ ชินวัตรก็ไปที่ตึกชินวัตร3 โยอ้างว่าเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมพรรคเพื่อไทย และตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงคำถามว่าควรที่นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้วย เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร ร้องขึ้นว่า “โอ๊ยคงไม่หรอก เพราะรู้สึกว่าเอาแค่นี้ก็หนักแล้ว” และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของนายทักษิณ ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกมองว่าครอบงำพรรค นายทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าไม่มีครอบงำ มีแต่ครอบครอง ผู้สื่อข่าวจึงถามทันทีว่าครอบครองหนักกว่าครอบงำ นายทักษิณ จึงรีบตอบว่าไม่ใช่ เพราะ นางสาวแพรทองธาร เป็นลูกสาวของตน (รายละเอียดปรากฎตามรายงานของสื่อมวลชนตามบัญชีที่แนบมาพร้อมนี้)

จากข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นหลักฐานยืนยันว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าไปครอบงำ ชี้นำเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต่อการจะรับหรือไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำตอบของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อประเด็นที่อาจมองว่า เป็นการครอบงำ ที่ตอบว่าไม่มีมีครอบงำมีแต่ครอบครอง แม้ในเวลาต่อมาจะเสริมว่า เพราะนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวของตน เป็นการแสดงเจตนาของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อสาธารณชนโดยพฤตินัย ว่าตนมีอำนาจเหนือนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จริงอยู่ว่านางสาวแพรทองธารเป็นบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยความสัมพันธ์ ระหว่างบิดากับบุตร นายทักษิณ ชินวัตรสามารถให้คำแนะนำให้คำปรึกษาแก่นางสาวแพรทองธารได้ แต่เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่มีตำแหน่งใดในพรรคเพื่อไทย การให้คำปรึกษากับผู้เป็นบุตรควรกระทำเป็นการภายในของครอบครัวเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายทักษิณ ชินวัตรให้ความเห็นเกี่ยวกับการควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อผู้สื่อข่าวดังกล่าว ที่ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ประกอบกับข้อที่ชี้แจงว่าไม่ได้ครอบงำ แต่ครอบครอง เป็นการจงใจแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า ตนมีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย เหนือนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรหัวหน้าพรรค ในการที่จะตัดสินใจให้นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งใด หรือไม่รับตำแหน่งใด อันทำให้นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง

(1.3) นอกเหนือจากการกระทำและพฤติการณ์ที่แสดงว่า นายทักษิณ ชินวัตร ควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ดังที่กราบเรียนมาตามข้อ (1.1) และ (1.2) ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการกระทำและพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้ควบคุมครอบงำ ชี้นำ การตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเข้าร่วมรัฐบาล ที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี คือกรณีสืบเนื่องมาจากปัญหาภายพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดความแตกแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มของหัวหน้าพรรคคือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กลุ่มหนึ่ง และกลุ่มของเลขาธิการพรรคคือร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กลุ่มหนึ่ง ทั้งสองกลุ่มต่างก็ช่วงชิงในการเสนอชื่อบุคคลในกลุ่มให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่าพรรคเพื่อไทยจะตกลงให้พรรคพลังประชารัฐกลุ่มใดระหว่างกลุ่มของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรค และกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าเข้าร่วมรัฐบาล และจะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนรัฐบาลมีเสถียรภาพหรือไม่ โดยนายทักษิณ ชินวัตรให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ อาคารชินวัตร3 ซึ่งหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ได้เสนอเป็นรายงานข่าว ความตอนหนึ่งเป็นดังนี้
“ เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้าหรือไม่ นายทักษิณ เผยว่า ไม่เป็นไร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อสกรีนทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยที่สุด

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ 2 ฝ่ายระหว่างพล.อ.ประวิตร และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ใครจะเข้ามาร่วม นายทักษิณกล่าวว่า ฝ่ายที่ทุ่มเทให้กับรัฐบาลมาตลอด ก็น่าเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ยืนยันว่าพล.อ.ประวิตรไม่ได้โทรหา ไม่ทราบอาจมีคนรอบข้างท่านเล่าให้ฟัง

ส่วนที่มีการระบุว่าไม่มีตระกูลวงษ์สุวรรณใน ครม.นั้น นายทักษิณกล่าวว่า แล้วแต่กรรมการ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง อยากจะร้องเพลงอัสนีว่า ถ้าจะมาก็มาทั้งตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังผูกใจเจ็บกับพล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตนเองโดนเยอะที่สุด แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร อยู่กับวันนี้ และวันพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ใครทำอะไรไปก็ควรจะรู้ตัว แค่นั้นเอง

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า เป็นธรรมชาติว่าต้องมีเสียงให้มีเสถียรภาพ เรามีปัญหามาก ต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องแก้กฎหมาย ต้องได้รับสนับสนุนจากสภา ต้องให้มีเสียงพอได้รับความเชื่อมั่น โดยในวันที่ 22 ส.ค. ตนจะพูดเรื่องความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนประเทศไทยอีกครั้ง

ส่วนกรณีคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส ที่อาจจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้น นายทักษิณ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกติกา เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาบอกว่าเป็นอย่างไร ถ้าผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน แต่จะให้สถานะนายกรัฐมนตรีอยู่แบบคราวที่แล้วก็ไม่ดี ย้ำว่าคนที่สุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรที่จะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ทุกคนควรจะเสียสละเพื่อให้การเมืองต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ บอกว่าคนที่เหมาะสมจะมาร่วมรัฐบาล จะต้องช่วยงานรัฐบาลมาก่อน แต่พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้มาโหวตเลือกน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ผ่านมา ควรเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ ถามย้อนว่า “นั่นสิ ต้องลองถามท่านดูว่า ทำไมไม่มาโหวต”

จากการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตรดังกล่าว แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าเป็นพฤติการณ์ที่เกินกว่าพฤติการณ์ที่ผู้เป็นบิดาพึงให้คำปรึกษาแก่บุตร เพราะเป็นการชี้นำเพื่อให้พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคที่เป็นบุตร ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในการกำหนดบุคคลหรือพรรคการเมืองให้ร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความประสงค์ทางการเมืองของตน โดยไม่ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐกลุ่มของพลเอกประวิตรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตามกฎหมายเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการ ให้กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัสที่เคยสนิทสนมกับตนเข้าร่วมรัฐบาล เพราะมีความเจ็บแค้นพลเอกประวิตร ที่เคยร่วมทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตามที่เคยแสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายโอกาส โดยที่รู้อยู่ว่าการให้กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส เข้าร่วมรัฐบาลจะทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายหลายประการอันมีจะมีผลเสียต่อรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตามมา หากอ้างว่าเป็นคำแนะนำแก่บุตร ก็ผิดวิสัยของการให้คำแนะนำฉันบิดาและบุตรที่ต้องให้คำแนะนำในประการที่จะต้องไม่มีผลกระทบในทางที่ไม่เป็นคุณต่อบุตร นอกจากนี้นายทักษิณ ชินวัตร รู้ดีว่าหากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล ให้เพียงกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส เท่านั้นเข้าร่วมรัฐบาล อาจมีปัญหาเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่พอที่จะให้เกิดเสถียรภาพแก่รัฐบาล นายทักษิณ จึงให้สัมภาษณ์ในทำนองที่จะไม่ปิดกั้นพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ทั้งที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อนและอาจมีการต่อต้านตามมา

ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จริงในเวลาต่อมาว่าพรรคเพื่อไทย ไม่เสนอชื่อบุคคลที่พรรคพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าได้เสนอให้เป็นรัฐมนตรีตามมติของคณะกรรมการบริหาร เป็นรัฐมนตรีแต่ได้เสนอชื่อบุคคลตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าเสนอ เป็นรัฐมนตรีแทน และก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพรรคเพื่อไทยได้เชิญให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลและจะได้เสนอชื่อบุคคล ตามรายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอเให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลต่อไป

2. จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร ดังกราบเรียนมาในข้อ (1.1) ข้อ (1.2) และข้อ (1.3) เป็นที่ชัดเจนว่านายทักษิณชินวัตร ได้กระทำและมีพฤติการณ์ในการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

3. พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการอันเป็นควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยขาดอิสระ โดยยอมให้นายทักษิณ ชินวัตรกระทำหรือดำเนินกิจการประดุจคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ดังข้อเท็จจริงของพฤติการณ์และการกระทำตามที่ที่ได้กราบเรียนมาในข้อ (1.1) ข้อ (1.2) และข้อ (1.3) โดยไม่มีกรรมการบริหารหรือสมาชิกผู้ใดทักท้วง ท้วงติงหรือคัดค้าน แต่กลับปรากฎพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการครอบงำและชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตรทุกประการ ดังนี้

(3.1) กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ประชุมหารือที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีรายงานข่าวยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยตกลงเสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อเท็จจริงในข้อ (1.1) แม้ในภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพื่อไทยตามกลลวงที่นายทักษิณ ชินวัตรวางแผนไว้ให้เสนอชื่อนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และพรรคกการเมืองร่วมรัฐบาลก็ให้ความเห็นชอบก็ตาม ก็ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำที่เป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว

(3.2) กรณีปัญหาภายของพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดเป็นประเด็นว่า พรรคเพื่อไทย จะเชิญพรรคพลังประชารัฐกลุ่มใดเข้าร่วมรัฐบาลและจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้คะแนนสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมีเสถียรภาพหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร มีท่าทีชี้นำไม่ต้องการให้กลุ่มของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเข้าร่วมรัฐบาล และไม่ปิดกั้นที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 มีหลักฐานข้อเท็จจริงปรากฏต่อสาธารณชนว่า เลขาธิการพรรคเพื่อไทยมีหนังสือเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และรายชื่อบุคลที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ปรากฏจากรายงานข่าว ไม่มีบุคคลที่มีนามสกุลวงษ์สุวรรณอยู่ในรายชื่อ แต่มีบุคคลที่กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นผู้เสนอ และมีรายชื่อหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในรายชื่อบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเป็นไปตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ชี้นำไว้ก่อนหน้านี้

4. จากข้อเท็จจริงดังเรียนมาข้างต้นในข้อ 3 เห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ และชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย โดยยอมกระทำการตามการครอบงำ และ ชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ในการจะให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลใดเข้าร่วมหรือไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาล และจะเสนอหรือไม่เสนอบุคคลใดเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรเป็นนายกรับมนตรี ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างแจ้งชัด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าใคร่ร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้ดำเนินการทางกฎหมายกับนายทักษิณ ชินวัตร ฐานฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และดำเนินการทางกฎหมายกับพรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะกรรมการบริหาร ฐานว่าฝืนมาตรา28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และคงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐของประเทศไทย และหลักนิติธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป จักเป็นพระคุณต่อปวงชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายวรงค์ เดชกิจวิกรม