นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ทางด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการให้บริการ ในระบบคมนาคมขนส่งและสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นรูปธรรม ที่ประจักษ์และครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และนโยบายของรัฐบาล อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสนับสนุนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคนาคมของภูมิอย่างยั่งยืน รองรับการเดินทาง การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นายสุริยะ ยืนยันว่า จะดำเนินการสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ได้ประกาศไว้ โดยเฉพาะนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 กระทรวงคมนาคมได้นำร่องมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ได้ตั้งคณะการทำงาน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้นโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เกิดขึ้นได้จริงกับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสี ทุกสาย ตามเป้าหมายในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง และร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือนกันยายน 2568
ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้ โดยจากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2568 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือ 2 ปี ประมาณ 16,000 ล้านบาท เบื้องต้นเงินที่จะสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วมจะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ จะหาเงินสมทบจากแหล่งเงินอื่นด้วย อาทิ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น แต่หากร่างกฎหมายตั๋วร่วมยังไม่ประกาศใช้ จะไม่สามารถนำเงิน รฟม. มาใช้สนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้
สำหรับด้านคมนาคมทางบก อาทิ เร่งรัดการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อปิดตำนาน "ถนน 7 ชั่วโคตร" พร้อมเดินหน้าแก้ไขอุปสรรคทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งเร่งรัดโครงการมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ที่มีปัญหาสะสมมาหลายรัฐบาลให้แล้วเสร็จจนสามารถกำหนดการให้บริการประชาชนเพิ่มเติมได้ อีกทั้งเร่งรัดโครงการมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี รวมถึงในส่วนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้มอบกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ทันภายในปี 2568 เป็นต้น
ส่วนด้านคมนาคมทางน้ำ ได้มอบให้กรมเจ้าท่า และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริการ Smart Pier เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อ "ล้อ – ราง – เรือ" อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ศึกษารายงาน PPP การพัฒนาท่าเรือ Cruise Terminal ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ให้สามารถเสนอสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาได้ภายในต้นปี 2568 และด้านคมนาคมทางอากาศ ได้ขับเคลื่อนนโครงการ Aviation Hub ตามนโยบายของรัฐบาลโดยกำหนดเป้าหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานอยู่ใน 20 อันดับของโลก ภายในปี 2572 พร้อมทั้งจะพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศให้มีความทันสมัย รองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต
ในส่วนของโครงการแลนด์บริดจ์ ล่าสุดอยู่ในช่วงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลต่างๆ เบื้องต้นคาด พ.ร.บ. SEC จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปลายปี 2573 ต่อไป
นายสุริยะ ย้ำว่า โครงการแลนด์บิดเป็นแฟล็กชิพของรัฐบาล ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน โดยโครงการนี้รัฐบาลออกเงินเฉพาะเรื่องของการเวนคืนที่ดินเท่านั้น แต่การลงทุนเป็นของภาคเอกชน จากกรณีที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องการขาดทุนนั้นจึงเป็นเรื่องของคนและจากช่วงที่ผ่านมาได้ไปโรดโชว์ในหลายประเทศได้ให้ความสนใจกูเชื่อว่ารันเลทจะสร้าง รายได้ให้กับประเทศแน่นอน
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมยังคงมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยในทุกโครงการ โดยล่าสุดได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างกำหนดเป็นนโยบายให้จัดทำสมุดพกผู้รับเหมาเพื่อกำกับคุณภาพด้านความปลอดภัย จนปัจจุบันได้เริ่มใช้ในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมแล้ว และอยู่ระหว่างประสานกรมบัญชีกลางเพื่อนำไปสู่มาตรการด้านการลดชั้น หรือตัดคะแนนผู้รับเหมาสู่การตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงคมนาคม