xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทุ่มงบ 21 ล้าน นำเข้าวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง 3,000 โด๊ส ฉีด 3 กลุ่มฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคประชุมแนวทางใช้วัคซีน Mpox ป้องกันฝีดาษลิง ในประเทศไทยว่า โรคฝีดาษลิงอัตราการแพร่ระบาดต่ำ การแพร่โรคไม่สูง ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันจริงๆ อาการของโรคก็ไม่มีไอ ไม่มีน้ำมูก โอกาสจะระบาดใหญ่ ระบาดมาก เราประเมินแล้วไม่สูง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนมีความจำเป็นหรือไม่นั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการควบคุมโรค แต่เนื่องจากวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ทางกรมควบคุมโรค จึงใช้มาตรา 13(5) เพื่อการควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2522 จะมีการใช้งบประมาณ กรมควบคุมโรค วงเงิน 21 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว รวม 3,000 โด๊ส เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม คือ 1. บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดโรค อาทิ ไปสัมผัสเสี่ยงสูง คือสัมผัสคนติดเชื้อ 2. กลุ่มไปสัมผัสโรค เสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ก็จะฉีดภายใน 4 วัน และ 3. กลุ่มมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ส่วนอีกกลุ่มที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคนั้น อาจจะต้องฉีดโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งปัจจุบันมีที่สภากาชาดไทย

จากนี้ จะต้องทำเรื่องให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดซื้อต่อไป ทั้งนี้หลังดำเนินการสั่งซื้อแล้ว ต้องรออีกประมาณ 4 เดือน ถึงจะมีวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศ

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดไม่ใช่ฉีดทั่วไป เพราะอัตราระบาดต่ำ ไม่มีการระบาดทั่วไปในคนไทย แต่พบผู้ป่วยในกลุ่มเฉพาะ เช่น ที่พบมากตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยในไทยมาตั้งแต่ปี 2565 คือ ผู้ขายบริการทางเพศชาย รักษารวม 833 ราย ส่วนคนเสียชีวิต คือผู้ป่วยเอชไอวีด้วย รวมแล้วเสียชีวิตสะสม 13 ราย ที่เป็นสายพันธุ์เคลด 2 ปีที่แล้วพบป่วย 673 ราย แต่ปีนี้พบป่วยลดลงลง เหลือ 146 ราย ในกลุ่มเดิมๆ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีการแพร่กระจาย ดังนั้นความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่ำมาก จึงฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น” นพ.ธงชัย กล่าว และว่า สำหรับสายพันธุ์ เคลด 1บี ที่มีผู้ติดเชื้อรายแรกนั้น รักษาหายแล้ว ขณะที่คนใกล้ชิด 43 คน ก็ครบกำหนดติดตามแล้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แปลว่า ไม่มีการระบาด หรือติดเชื้อในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาแน่ๆ