xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ผิวหนังเตือนอย่าชะล่าใจ! ผื่นแมลงกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แมลง ถือเป็นสัตว์ที่มีการกระจายมากที่สุดในโลก คงเป็นไปได้ยากมากๆ ที่ในชีวิตของคนเราจะไม่เคยโดนแมลงกัดเลย ซึ่งการที่แมลงนั้นมีมาก จึงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดว่าแมลงชนิดไหนเป็นอัตราย เพราะแมลงบางชนิดสามารถปล่อยสารทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ หรืออาจรุนแรงไปถึงขั้นเซลล์อักเสบ เช่น แมลงสังคมอย่างมดและผึ้ง เป็นตัวอย่างที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดของสัตว์สังคม พวกมันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ สามารถพบได้ทั่วไปได้ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือป่าเขา

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การป้องกันอันตรายจากแมลงสามารถทำได้หลายทาง คือควรสวมใส่เสื้อแขนขายาว รวมทั้งใช้ครีม หรือสเปรย์ เพื่อป้องกันแมลงกัด บางรายหากโดนแมลงกัดแล้วอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพตามมา ชิ้นเนื้อที่บริเวณแมลงกัดมักจะเป็นเนื้อตายที่บริเวณผิวหนังชั้นบน จึงทำให้ผื่นมีลักษณะจุดดำๆ ตรงกลางและเซลล์อักเสบ โรคในกลุ่มนี้มักจะลงลึกถึงชั้นผิวหนังแท้ เลยทำให้รอยโรคเหล่านี้เมื่อหายแล้วเกิดเป็นรอยดำตามมา

ขณะที่นายแพทย์ทนงเกียรติ เทียนถาวร นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะรอยโรคของผื่นเป็นตุ่มแดง ขนาด 2- 8 มิลลิเมตร เป็นกลุ่มๆ หรือกระจายทั่วตัว มีอาการคัน ปกติแล้วหายได้เองในระยะเวลา 5-10 วัน บางรายอาการหนักคล้ายลมพิษ เรียกว่า papular urticaria มักจะเจอได้บ่อยในคนไข้ที่มีโรคประจําตัวในกลุ่มภูมิแพ้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการมากอาจต้องได้รับการรักษา ซึ่งผื่นแมลงกัดนั้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการอักเสบใต้ผิวหนัง การรักษาส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาตามอาการลดอาการคัน หรือในตุ่มที่มีการอักเสบ ให้ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ในรายที่เป็นมากอาจได้รับยากินกลุ่มสเตียรอยด์ร่วมด้วยได้ หากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ การเกามากๆ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในชั้นผิวหนังแท้ได้ ซึ่งการรักษาต้องมีการให้ยาทา และยากิน กลุ่มยาฆ่าเชื้อ Antibiotic ร่วมด้วย การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง