ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี โดยพบว่า ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง แล้ว 7 อำเภอ 71 ตำบล 339 หมู่บ้าน 10,028 ครัวเรือน
โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และถอดบทเรียนจากทุกปีที่ผ่านมา โดยแบ่งการจัดการออกเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ชุมชน-เศรษฐกิจ พื้นที่โบราณสถาน และพื้นที่อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ติดตามจุดเสี่ยงคันกั้นน้ำ และพื้นที่ฟันหลอ ริมน้ำตรงข้ามวัดกษัตราธิราชวรวิหาร พร้อมลงเรือตรวจการณ์สำรวจลำน้ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง และคลองบางบาลบริเวณอำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยระบุว่า สถานการณ์น้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นการรวมกันของแม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลอยู่ในอัตรา 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ จะไหลมายังหน้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาเติมอีกประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะมีการระบายน้ำออกทางซ้าย-ขวา แม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ที่ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มที่จะระบายถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีภายใน 1-2 วันนี้
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ พบว่าในช่วงวันที่ 6-11 กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลของพายุยางิ ที่ประชุมจึงวิเคราะห์และคาดว่าปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 นครสวรรค์ ช่วงวันที่ 9-10 กันยายน จะมีปริมาณสูงกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะต้องบริหารจัดการระบายน้ำออกทางซ้าย-ขวา แม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 200-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้นแต่จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอาจส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี 30 อำเภอ 116.21 ตารางกิโลเมตร
โดยจะได้แจ้งให้จังหวัดดังกล่าวเตรียมดำเนินการเชิงป้องกัน ทั้งการประกาศให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวโน้มการระบายน้ำ การยกของขึ้นที่สูง การเสริมคันกั้นน้ำ ดูแลพื้นที่ฟันหลอ และเตรียมสถานที่พักพิง เครื่องมือ เช่น เรือลำเลียง ไว้ล่วงหน้า พร้อมเตรียมย้ายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวจากจังหวัดสุโขทัย มายังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อดูแลประชาชนและช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดเฝ้าระวังอยู่ที่สถานีวัดน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีศักยภาพการรองรับน้ำได้ถึง 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จะบริหารจัดการควบคุมให้อยู่ที่อัตรา 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเหลือไว้รองรับการระบายน้ำจากกรุงเทพมหานครหากมีฝนตกหนัก อีกทั้งการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีนั้น น้ำที่สถานีบางไทรก็จะไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังมีช่องว่างอีกกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพมหานครได้
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยยังคงมีไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งยังมีโอกาสที่จะมีพายุลูกใหม่เข้ามาได้ โดยพายุยางิถือว่าเป็นพายุที่เกิดใกล้ประเทศไทยมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจากการติดตามจนถึงวันที่ 15 กันยายน ยังไม่พบว่าจะมีพายุจรเข้ามา แต่หลังจากวันที่ 15 กันยายน จะได้มีการเฝ้าติดตามอีกครั้ง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะมีการติดตามสถานการณ์ แนวโน้มของพายุ และทิศทางของฝนอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความเสี่ยงจะประกาศแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เตรียมพร้อมรับมือในทันที