นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า
"ชาวกรุงเทพฯ อย่ากลัว น้ำมีโอกาสท่วมน้อยมาก
มีคนถามมาเยอะว่า กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมเหมือนปี 54 ไหม ด้วยความรู้และประสบการณ์ มั่นใจ 70% ว่าไม่ท่วม โดยจะเปรียบเทียบดังนี้
1. ปี 54 เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ มีน้ำเก็บไว้มากถึง 70% เพราะรัฐบาลก่อนอยากทำนาปรัง เพราะเห็นว่าราคาดี (ปัจจุบันมีน้ำเพียง 40%)
2. ปี 54 ร่องฝนพาดอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ฝนตกชุก บรรดาพวงคลองหนองบึงน้ำเต็มหมด ดินก็อุ้มน้ำไว้เต็มที่ (ปัจจุบันร่องฝนอยู่เหนือเขื่อน เขื่อนจึงเก็บน้ำได้มาก ส่วนภาคเหนือตอนล่างก็ยังแล้งอยู่ รับน้ำได้อีกเยอะ เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ และหนองบึงอื่นๆ ส่วนดินก็แห้งยังซับน้ำได้อีกมาก
3. ปี 54 มีพายุโซนร้อนที่เข้ามาถึง 5 ลูก เขื่อนใหญ่น้อยน้ำเต็มหมด ต้องระบายออกเพื่อความปลอดภัย ครั้นระบายลงมาลำน้ำก็เต็มแล้ว จึงล้นฝั่ง น้ำกระจายเต็มพื้นที่ (ปัจจุบันยังไม่พบว่า มีพายุโซนร้อนเลยสักลูก ส่วนน้ำยังคงอยู่ในแม่น้ำจึงควบคุมได้ วันนี้น้ำที่เขื่อนชัยนาทมีเพียง 500 ในขณะที่ปี 54 มีมากถึง 4,000 cu.sec.)
มีคนถามว่า ทำไมมั่นใจเพียง 70% ไม่ถึง 100% คำตอบที่น่ากังวล คือ 1. เรายังไม่เข้าใจกระจ่างถึงอิทธิพลของภาวะโลกร้อน (climate change)ต่อปริมาณฝนที่แม่นยำ 2. พบเหตุการณ์ประหลาดคือ มีลมเย็นจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ไหลเข้ามาถึงประเทศไทย
3. ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดไม่ยอมหยุด ในขณะที่ลมตะวันออกก็เริ่มพัดเข้ามา จึงเกิดแนวปะทะแบบขวางหรือบางทีก็เป็นวงกลม (Circular) ล้อมพื้นที่เป็นหย่อมๆ เช่น กลุ่มเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ที่แปลกก็คือทางใต้ก็มีด้วย 4. พบว่า ฝนจะตกเป็นหย่อมๆ แต่รุนแรงและต่อเนื่อง 3-5 วัน ตกถึง 500 มม. เกิดน้ำป่าไหลทะลักลงมา
5. อุณหภูมิในทะเลรอบประเทศไทยสูงกว่าปกติ 1-3 องศาเซลเซียส อากาศจึงมีความชื้นสูง 6. สภาวะ El Niño และ La Niña มั่วมาก สลับไปมาในช่วงสั้นๆ (ปกติทุก 3-5 ปี) และ 7. สุดท้าย (แล้วแต่ดวง) ไม่รู้ไต้ฝุ่นหรือพายุโซนร้อนจะมีหรือไม่และมากน้อยเพียงใด
ถ้าถามผมว่า จะทำอย่างไรในสถานการ์ณแบบนี้จึงจะดีที่สุด และเสี่ยงน้อยที่สุด ผมก็จะตอบว่า อย่าหวงน้ำ พร่องได้ ระบายได้ทำเลย น้ำท่วมเสียหายกว่าน้ำแล้งแน่นอน ชาว กทม. อย่าตื่นตระหนก หน้าบ้านผม (ตามรูป) น้ำยังนิดเดียวเลย"