xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติงบฯ 20 ล. ตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากเรื้อรังมานานจากหลายปัจจัยทั้งการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ การไม่มีที่รองรับน้ำในภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทุกปี โดยเฉพาะในปีนี้ มีมวลน้ำปริมาณมาก สถานการณ์ฝนตกมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา มีภาวะฝนตกเป็นจุดๆ จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังน้ำลด และการแก้ปัญหาระยะยาว โดยบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาบริหารประเทศจะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์ บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมหนักอยู่ เช่น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งยอมรับว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างหนัก คันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ จึงเกิดการพังทลาย

นอกจากนี้ คันกั้นน้ำที่กำลังก่อสร้างยังมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน  นายภูมิธรรม จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว และนำมาสู่การตั้งศูนย์แก้ปัญหาให้มีเอกภาพ จึงตั้งเป็นศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เป็นประธาน แบ่งภารกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือนให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาประมาณไหน ไม่ให้เกิดความตระหนก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณและยืนยันว่าจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จะเป็นผู้ดูแล 2. การดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม บางจังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจะใช้งบทดรองจ่าย จำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอต้นสังกัดจะขอมาที่ส่วนกลาง ใช้งบกลาง แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้ว การดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็วตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จังหวัดนครสวรรค์หรือต่ำกว่านั้นก็ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไข ไม่ใช่ทำงานเชิงรับ